Friday, February 24, 2006

Images of the Architect - ภาพพจน์ของสถาปนิก

ดร.พร วิรุฬห์รักษ์
virulrak@hotmail.com

ในสังคมไทยปัจจุบันของเรา คงไม่มีใครปฎิเสธว่าเรื่องภาพพจน์เป็นเืรื่องสำคัญ แต่จะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเหนือเรื่องอื่นๆ หรือไ่ม่อันนั้น คงขึ้นอยู่กับความเห็นของแต่ละคน

ลองดูในหลายๆ กรณีของชีวิตคนๆหนึ่ง ที่ต้องขวนขวายไปเรียนเมืองนอก หรือไปเรียนให้จบปริญญาเอกเพื่อเหตุผลอะไรกันแน่ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องร่ำเรียนถึงเจ็ดแปด ปีเพื่อให้ได้ความรู้อันยิ่งใหญ่ หรือว่าจริงๆ แล้วเป็นภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ เพื่อให้ชีวิตที่เหลือมีความรุ่งเรืองเนื่องจากมีคำว่า ด๊อกเตอร์ นำหน้าชื่อ กันแน่

ในชีวิตปัจจุบันของเรา ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าความรู้นั้นเจริญเติบโตและเปลี่ยนไปอย่างรุนแรงขนาดไหน คนที่จบปริญญาเอกมาในปี 2002 อย่างข้าพเจ้าเอง ถ้าไม่ได้ update ตัวเองแต่อย่างใด หลงระเริงอยู่ในคำว่า ด๊อกเตอร์ที่นำหน้าชื่อตัวเอง คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว และแน่แล้ว อาจจะจบลงด้วยความโง่เสียยิ่งกว่าเด็กจบปริญญาตรีใหม่ๆในปีนี้ ก็ได้

การที่ได้ชื่อว่าเป็น “สถาปนิก” สำหรับข้าพเจ้านั้น ไม่ได้ต่างอะไรกับการที่มีปริญญาเอกอยู่ในมือ หรือมีคำ่ว่า ศาตราจารย์อยู่หน้าชื่อเท่าใด มันไม่ได้เป็นเพียงแต่บอกว่าเราสอบ กส ผ่านเท่านั้น แต่ว่ามันเป็นเื่รื่องของ status หรือสถาณภาพ ที่เมื่อคนได้ยินแล้ว ส่วนใหญ่คำที่ตามมาจากปากของเขาคือ wow แล้วเราก็จะยิ้มที่มุมปากนิดๆ ตามด้วยความคิดอีกมากมาย ที่คงจะแตกต่างกันออกไป แต่หนึ่งในนั้นที่ปฎิเสธไม่ได้ก็คือ “เออ มันไ่ม่ได้โก้หรูขนาดที่คุณคิดหรอก” ส่วนความคิดของคนที่พูดว่า wow นั้น ก็คือ จบ ไม่มีอะไรต่อ ถ้าว่ากันตามมารยาท ก็อาจจะถามเืื่รื่องสร้างบ้าน ปลูกเรือนหอให้หน่อย หรืออาจจะมีจำนวนน้อยมากๆ ที่จะโผล่มาบอกว่า กำลังจะลงทุนทำโรงแรมนะ ช่วยดูให้หน่อยได้ัมั้ย ซึ่งน่าจะ เป็นประมาณ สัก 1% หรือน้อยกว่านั้นที่จะได้ project หล่นมาจากฟ้าแบบนี้

แล้วในสังคมโดยส่วนรวมเป็นอย่างไร หลายๆคนรู้จักเราในฐานะคนที่มีความเป็นศิลปิน เป็นพวกที่ตลก มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ไม่รู้ว่า เราแตกต่างกับวิศวกรอย่างไร

ไปถามวิศวกรดู เราจะได้คำตอบอีกอย่าง วิศวกรอาจจะบอกว่า สถาปนิกคือคนที่วาดอะไรออกมาก็ไม่รู้ แล้วก็มาให้พวกผม(ดิฉัน)จะทำท่อ ทำแอร์ ทำโครงสร้างให้ลงให้ได้ แล้วยังจะเอาเร็วๆ อีก

ฟังๆดูก็เป็นความจริงได้ทั้งนั้น ซึ่งถ้าเราเป็นคนที่สนใจเรื่องภาพพจน์ เราจะต้องใส่ใจกับเรื่องเหล่านีให้มากๆ แต่ก่อนที่เราจะไปใส่ใจตรงนั้น สิ่งแรกที่เราน่าจะคำนึงถึงก่อนคือ มีใครมอง “ถูก” บ้าง

มีใครเ้ข้าใจจริงๆบ้างว่าสถาปนิกคืออะไร มีประโยชน์อะไรอยู่ในสังคม และคำถามที่อาจจะน่ากลัวกว่านั้นคือ

เราเองที่เป็นสถาปนิก ตอบคำถามนี้ได้หรือไม่

เรา “เข้าใจ” จุดประสงค์ของการที่เรามีตัวคนอยู่ในสังคมนี้หรือเปล่า

ถ้าพวกเราทั้งหลายที่ทำงานกันงกๆ จนไม่มีเวลานั้น เิกิดตกใจแล้วบอกมาว่า ผม(ดิฉัน) ก็ไม่รู้เหมือนกัน ผู้เขียนก็จะขอบอกข่าวดีว่า สถาปนิกที่ประเทศอังกฤษก็มีปัญหาเดียวกัน ทั้งๆที่สถาปนิกอังกฤษนั้นแทบจะเรียกได้ว่าีมีมาตรฐานการทำงานที่สูงที่สุดอันดับต้นๆของโลก แล้วด้วยซ้ำและอุตสาหกรรมการก่อสร้างของเขาก็ล้ำหน้ากว่าหลายๆ ประเทศในยุโรปมาก ก็เป็นที่น่าสงสัยพอสมควรว่าทำไมเขาจึงมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการสร้างความเข้าใจของวิชาชีพต่อสาธารณะชน ซึ่งเป็นทีเรื่องที่น่าสนใจมาก ว่าคนจากต่างสายงาน ต่างวิชาชีพหรือต่างแนวคิดทางการเมือง ก็มองสถาปนิกไปในรูปแบบที่แตกต่างกันมากอย่างน่าตกใจ
โดยในบางกรณีนั้นถึงขนาดมองตรงกันข้ามอย่างสุดขั้ว ในประเด็นเดียวกันด้วยซ้ำ

ผู้เขียนได้รับ forward mail จากเพื่อนคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา Forward mail อันนี้เป็น joke เกี่ยวกับภาพพจน์ของสถาปนิกที่ตลกมาก และก็แฝงไว้ด้วยปรัชญาที่ล้ำลึกมาก ซึ่งผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะนำมาแสดงไว้ให้ พวกเราในอาษาได้ชมกัน ซึ่งผู้เขียนจะขอวิเคราะห์แต่ละภาพใน การ์ตูนที่เห็น และจะสรุปในภายหลังให้ฟัง

ภาพการ์ตูนทั้งหมดนี้มี อยุ่ด้วยกัน 20 ช่อง อยากจะให้ท่านผู้อ่านได้ดูโดยละเอียดสักเล็กน้อย จะเห็นได้ถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่ต้องการจะสื่อความหมายของคนเขียนให้กับพวกเรา

อยากให้บทความอันนี้เป็นบทความเปิด โดยอยากให้ท่านผู้มีความรู้เกี่ยวกับ ระบบวิชาชีพในประเทศอังกฤษเข้ามาช่วยเสริม เพราะสิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนนั้น อาจจะไ่ม่ได้ถูกจุด หรือไม่ได้วิเคราะ์ห์อย่างถูกต้องตรงแผงทุกประการ ถ้าจะกรุณา ส่ง e-mail มาที่ข้าพเจ้า หรือ post ใน Webboard ก็จะเป็นคุณูปการอย่างยิ่ง ถ้ามีความผิดพลาดในการวิเคราะห์แต่อย่างใดไป ก็จะขอรับผิดทุกประการ

รูปแรก - The Architect
เป็นเหมือนการแนะนำกันก่อน โดยใช้ลักษณะ typical ของสถาปนิกทีคนทั่วไปรู้ คือการนั่งอยู่ที่โต๊ะเขียนแบบ มีฉากสามเหลี่ยมและทีไสลด์เคียงข้าง แต่งตัวก็ต้องมีหูกระต่าย ตามสไตล์อังกฤษของเขา แล้วก็มีเคราคางแพะที่แสดงความเทห์อยู่เล็กน้อย ซึ่งcharacter ตัวนี้ก็จะไปปรากฎอยู่ในการ์ตูนช่องอื่นๆ

รูปที่สอง - AS SEEN BY THE PUBLIC - จากมุมมองของสาธารณะชน
ถ้านี่คือหนังก็เหมือนกับการ ซูมกล้องออกมาไกลๆ ทันที ภาพที่เห็นคือสถาปนิกบนโต๊ะเขียนแบบที่อยู่บนเมฆ แสดงให้เห็นถึงการที่อยู่ห่างจากโลกมนุษย์ปุถุชน เป็นโลกของสวรรค์ชั้นฟ้าที่คนธรรมดารู้ว่าน่าจะเป็นที่ๆดี แต่เขาก็ไม่เข้าใจว่ามันมีอะไรอยู่บนนั้น แล้วก็ไม่คิดว่าจะเข้าใจได้ในอนาคต อาจจะตีความหมายไปอีกทางก็ได้ว่า พวกนี้เหมือนเทวดา วันๆทำอะไรไม่ทราบแต่เจ๋งก็แล้วกัน ซึ่งก็ต้องสะท้อนไปถึงโลกของสถาปัตยกรรมในอังกฤษที่มีความสร้างสรรค์สูงมากๆ และล้ำยุคมากๆ และสำหรับในบ้านเรา ประเด็นการมองแบบนี้ ก็คงไม่ได้ต่างอะไรมากนัก น่าจะคล้ายคลึงกัน

รูปที่สาม - BY THE CLIENT - จากมุมมองของลูกค้า
เป็นรูปของสถาปนิกคนเดิม ยังคงนั่งอยู่หน้าโต๊ะเหมือนเดิม แต่โต๊ะรุงรังมาก ด้านข้างมีแฟ้มขาเข้า (In) กองเพนิน แปลว่าดองเอกสารไว้ ไม่อ่าน บนโต๊ะมีใบเบิกเงินลูกค้า (Invoice) อยู่ แต่ตัวเองดันนั่งอ่านหนังสือพิมพ์กีฬา และมีแก้วกาแฟอยู่ด้านข้าง และวิทยุ ความหมายก็คือ “ขี้เกียจ” นั่นเอง ไม่เห็นจะทำอะไรแล้วก็ส่งใบมาเบิกเงิน ซึ่งประเด็นนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับสถาปนิกอย่างเราสักเล็กน้อยเพราะว่าลูกค้าส่วนใหญ่ไม่เข้าใจขั้นตอนความยากลำบากของการคิดแบบ ลูกค้าเห็นแต่แบบที่ออกมา เป็น output ดังนั้นเืมื่อเห็นการดาษไม่กี่แผ่นแต่จะเอาเงินเป็นแสนจึงไม่เข้าใจ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องปกติในเมืองไทย แต่ขอให้สังเกตุดีๆว่านี่คือประเทศอังกฤษที่มีความเ้ข้าใจเื่รื่องค่าแรงคนเป็นอย่างดี ยังคิดกันแบบนี้

รูปที่สี่ - BY THE BUILDER - จากมุมมองของผู้รับเหมาก่อสร้าง
เป็นรูปของสถาปนิกคนเดิม แ่ต่อยู่ในชุดหรูหรา ออกจะเป็นสไตล์หลุยสที่ 14 ของฝรั่งเศส (แสดงถึงความหรูหราสุดโต่ง) สายตาพริ้ม เหมือนไม่มองโลก หยิ่งเล็กน้อย มีไม้เท้า รองเท้าสนสูง สรุปก็คือ “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” หรือแปลว่า ทำตัวหรูหรา ไม่กล้าลุย คิดจะทำอะไรเทห์ๆ แต่ไม่รู้เรื่องการก่อสร้างเพียงพอ เหมือนจะเป็นที่หัวเราะเยาะของช่างก่อสร้าง ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องจริงที่อาจจะเรียกได้ว่าเกิดขึ้นทั่วโลก ในประเทศไทยคงเป็นเรื่องปกติเพราะผู้นำของทีมก่อสร้างคือผู้รับเหมาไปแล้ว เราทำอะไรเป็น Design Build เยอะมาก ส่วนในอเมริกาผู้รับเหมาเกรงใจสถาปนิกมาก แต่พอลับหลังก็พูดจานินทากันให้สนุกปากเหมือนกัน โดยมักนินทาว่า ทำงานแต่ในห้องแอร์ ไม่ได้รู้เรื่องอะไร แล้วมาสั่งพวกเขาให้สร้างโน่นสร้างนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะต้องสะท้อนไปหาตัวของพวกเราเองว่า พวกเรารู้เรื่องการก่อสร้างดีพอหรือยัง เพราะถ้ายัง ก็คงจะกลายเป็นตัวตลกของผู้รับเหมาต่อไป

รูปที่ห้า - BY THE QUANTITY SURVEYER - จากมุมมองของผู้คุมงบประมาณ
รูปที่เห็นคือสถาปนิกคนเดิม โยนเงินมหาศาลที่ไหลออกมาจากท่อเหมือนจะไม่รู้จบ โปรยไปในอากาศรอบๆ ตัวอย่างไ่ม่บันยะบันยัง ความหมายที่สะท้อนให้เห็นคือ สถาปนิกไม่ค่อยคำนึงถึงการบริหารงบประมาณ คือไม่รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรใช้ แล้วก็ทำงานเกินงบเป็นประจำ ทำให้คนรู้สึกเหมือนกับว่าผลาญเงินอย่างไม่มีความรับผิดชอบ แต่ในกรณีนี้ก็อาจจะต้องขอเข้าข้างสถาปนิกอีกสักเล็กน้อยเืืนื่องจากว่า ในบางครั้งงบประมาณการก่อสร้างก็เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เพราะราคาของทุกอย่างก็ไม่ค่อยคงที่ นอกจากนี้เราก็คำนึงถึงคุณภาพของอาคารเป็นหลัก และแน่นอนว่าเจ้าของก็เปหลี่ยนใจบ่อยๆ ดังนั้นความเห็นของคนคุมงบประมาณเหล่านี้ อาจจะเ็ห็นไ่ม่เหมือนเราก็ได้ ไม่แปลก

รูปที่หก - BY THE PLANNER - จากภาพพจน์ของนักวางผังเมือง
เป็นรูปของสถาปนิกคนเดิม แต่ใส่สูท ผูกเน็คไทเส้นโต ใส่แว่นตากันแดดสีดำ และสูป Cigar เป็นภาพพจน์ของ นักธุรกิจเขี้ยวลากดิน ที่กำลังถืออาคารรูปร่างหน้าตาประหลาดเดินเข้ามา ในขณะที่เท้านั่น ย่ำไปบนอาคารเก่าแก่ที่มีูคุณค่า อย่างโบสถ์หรืออาคารที่มีโดมต่างๆ (สัญลักษณ์ของสถาปัตยกรรม classic) ซึ่งสาเหตุที่คนเขียนสื่อความหมายออกมาเช่นนี้ก็เนื่องจากว่าสถาปัตยกรรมชั้นดี และสมัยใหม่ที่เราเห็นในอังกฤษนั้นมักจะไปปรากฎตัวอยู่ในที่ เป็นย่านเก่าแก่ซึ่งเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงสำหรับนักวางผังเมืองที่ต้องการให้บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการจัดเป็นกลุ่มก้อนอย่างเป็นระบบ สถาปนิกทีทำงานบรรเจิดและล้ำยุคที่เรารู้จักกันหลายๆ คนจึงไม่เป็นที่ต้องใจของนักวางผังเมืองนัก แต่เราก็ต้องมองกันในอีกแง่ว่า มันจะมีตรงไหนบ้างในประเทศอังกฤษที่ไม่ใช่ย่านเก่าแก่ กับประวัติศาสตร์เป็นพันๆปีของเขา ที่ก็เล็กแค่นั้น จะสร้างอาคารใหม่ที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ อย่าง City Hall หรือ Millenium Dome ถ้าไม่สร้างกลางเมือง (ซึ่งก็ต้องปนไปกับตึกเก่า) แล้วจะสร้างตรงไหนได้

รูปที่ 7 – BY THE BUILDING CONTROL OFFICER - ในมุมมองของผู้ตรวจสอบอาคาร
หรือจะให้ว่ากันอีกทีคือ ในมุมมองของรัฐ นั่นเอง ภาพที่เห็นคือสถาปนิกถูกตรึง ถ่างแขน ถ่่างขา วางอยู่บนเ้้ป้าปาลูกดอก โดยหัวใจอยู่ในตำแหน่งแต้มสูงที่สุด และค่อยๆ กระจายออกไป ความหมายก็คือ สำหรับผู้ตรวจสอบอาคารแล้ว สถาปนิกเหมือนเป็นเครืื่องเล่นหรือเหยื่อสำหรับการลองความสามารถในการที่จะ “จับผิด” โดยที่ผู้เขียนเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า สำหรับในประเทศอังกฤษนั้น ผู้ตรวจสอบอาคารนั้นมีความเข้มข้นมากขนาดไหนในเรื่องของกฎหมายควบคุมอาคาร หรือได้รับ “โบนัส” จากการจับผิดสถาปนิกเหมือนกับในบางประเทศหรือไม่ แต่ก็เห็นได้ชัดๆ ว่าสถาณภาพของราชการที่น่าจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือช่วยให้อาคารมีคุณภาพเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แบบในสหรัฐนั้น ในอังกฤษกลับกลายมาเป็นผู้มีอำนาจที่เห็นสถาปนิกเป็นเครื่องเล่นไป

รูปที่ 8 – BY THE PROPERTY DEVELOPER - ในมุมมองของนักลงทุนพัฒนาที่่ดิน
เป็นรูปสถาปนิกที่ถูกทำให้เป็นเหมือนหุ่น ถูกชักใยอยู่เบื้องหลังด้วยมือขนาดใหญ่ ที่เป็นมือของนักพัฒนาที่ดินนั่นเอง สังเกตุได้ว่้า มือของสถาปนิกถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน บนโต๊ะเขียนแบบสองตัว ตาถูกแยกออก มองไปยังโต๊ะเขียนแบบแต่ละตัวเช่นกันโดยแบบที่เขียนอยู่นั้น แทบจะเหมือนกันเลยทีเดียว ความหมายก็คือ สถาปนิกเหมือนเป็นทาส หรือหุ่นของผู้รับเหมาที่จะสั่งให้ทำอะไรก็ได้นั่นเอง งานที่ทำออกมาก็เป็นงานเดิมๆ ก๊อปปี้กันออกมาเรื่อยๆ ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ โดยหากจะตีความด้วยความเป็นธรรมจริงๆ เราก็คงจะต้องยอมรับว่า ก็คงมีสถาปนิกหลายๆ คนที่ยินดีอยู่ในสภาพนี้เพราะรายได้นั้นดีจริง มีงานเข้ามาอย่างแน่นอน แต่ก็อย่างที่เห็นว่าเราก็คงต้องสูญเสียจิตวิญญาณไป กลายเป็นหุ่นที่ไม่มีชีวิต

รูปที่ 9 – BY THE POLITICIAN - ในมุมมองของนักการเมือง
สำหรับผุ้เขียนรูปนี้เป็นรูปที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะแสดงให้เห็นภาพสะท้อนที่ย้อนไปได้ไกลมาก ภาพที่ออกมาคือสถาปนิกที่โดน ผูกไว้กันเครื่องพันธนาการจากสมัยยุคกลาง และถูกขว้างปาโดยขยะจากสาธารณะชน สภาพดังกล่าวนี้เป็นสภาพของนักโทษที่ถูกผูกไว้ประจานให้ชาวเมืองมาถ่มน้ำลายใส่และขว้างปาสิ่งของ เป็นการหลู่เกียรติทำให้หมดความภาคภูมิอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่น่าสนใจคือ นักการเมืองอังกฤษเห็น สถาปนิกเป็นเหมือนกับนักโทษ หรือ “ผู้มีความผิด” ที่ควรจะต้องถูกประนาม ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมากเทียบกับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่สถาปนิกมักจะเหมือนเป็นผู้ที่นักการเมืองมักหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของความเจริญให้กับพื้นที่ จะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่สำหรับในอังกฤษที่นักการเมืองเห็นสถาปนิกเป็นต้นเหตุของปัญหา หรืออาจจะไม่ได้เห็นเช่นนั้นโดยตรง แต่ในแง่ของการตลาดทางการเมืองที่ต้องการหาเสียงนั้น สถาปนิกในอังกฤษกลายเป็น “แพะ” ที่เป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆ ที่นักการเมืองต้องการหยิบยกขึ้นมาแก้ แต่สาเหตุที่ออกมาเป็นเ่ช่นนี้ ผู้เขียนก็หมดปัญญาที่จะค้นหาตรงนี้จริงๆ ก็คงต้องให้ผู้รู้หรือท่านที่เคยทำงานในประเทศอังกฤษ มาลองตอบกันดู

รูปที่ 10 – BY THE JOURNALIST - ในมุมมองของสื่อมวลชน
เป็นอีกรูปหนึ่งที่น่าสนใจในความหมายแฝง โดยเป็นรูปสถาปนิกที่อยู่ในร่างของปิศาจ ตามความเชื่อของตะวันตก มีเขา มีหาง และมีสามง่าม ยิ้มอย่างชั่วร้ายอยู่ด้านหน้า โต๊ะเขียนแบบที่มี คำว่า “ตึกนรกระฟ้า” และมีแบบของอาคารสูงที่มีเพลิงไหม้อยู่ด้านล่างอยู่ ไม่ทราบเหมือนกันว่า คนที่เขียนการ์ตูนอันนี้จงใจที่จะหยิบตัวอย่างที่เลวที่สุดของ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาปิกกับสื่อมวลชนมาเสนอหรือไม่ แต่ก็อาจจะเป็นได้ในกรณีของการเสนอข่าวร้ายที่ อาคารสูงกลายเป็นอาคารนรก ที่ไม่มีทางออกหรือต้องเกิดคนตายมากมายอันมีสาเหตุมาจากการออกแบบที่ไม่ดีพอ (ซึ่งก็เกิดมาแล้วทุกประเทศในโลก) แต่ก็ต้องคิดในอีกแง่ว่า ตัวอย่างดังกล่าวนั้นเป็นจำนวนที่น้อยมากๆ เทียบกันไม่ได้กับข่าวดีๆ ที่สร้างชื่อให้ประเทศเช่น อาคารเปิดใหม่ พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ หรือสนามบินเปิดใหม่ สงสัยเหมืนกันว่า ทำไมท่านนักข่าวจึงไม่เห็นเรื่องดีๆ บ้างหนอ

รูปที่ 11 – BY THE BANK MANAGER - ในมุมมองของนักการธนาคาร
รูปนี้เห็นจะปฎิเสธไ่ม่ได้ โดยที่น่าจะเป็นเหมือนกันทั่วโลกคือ ในภาพคือสถาปนิกที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ เหงื่อแตกอย่างขาดความมั่นใจ ท่านั่งก็เขินๆ กำลังค่อยๆ หยิบโครงการก่อสร้างนำออกมาเสนอ โดยน่าจะเป็นการเสนอเพื่อขอเงินกูเพื่อทำโครงการ โดยมี background คือกระดาษที่ปลิวไปมาแสดงถึงความยุ่งเหยิง โดยความหมายทั้งหมดนี้ก็คือ “สถาปนิกเป็นผู้ที่ไม่น่าเชื่อถือที่จะให้มาเป็นลูกค้าเงินกู้” นั่นเอง โดยเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าสนใจเพราะหลายคนๆ ก็อาจจะเห็นเป็นเรื่องจริง ทั้งๆที่เราเป็นคนที่รู้เรื่องโครงการหนึ่งๆ มากกว่าใครทั้งหมด มากกว่าเจ้าของ ผู้รับเหมา หรือวิศวกรใดๆ คำถามที่ไม่มีใครตอบได้จะต้องมาลงที่สถาปนิกทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เราขาดคือ ถ้ามองในทางการค้า เราก็สอบตก เพราะเราไม่รู้จักการทำการวิเคราะห์ตลาด เราไม่รู้จักเรื่องการขาย เราไม่รู้จักเรื่องการทำตลาด หรือจะให้พูดโดยรวมๆ แล้ว เราไม่รู้เรื่องธุรกิจเลยด้วยซ้ำ เราไม่เคยเรียน ใครที่ไปเปิดบริษัทก็ต้องทำไป เรียนไปเ จ็บไปทั้งนั้น ถ้าเอาโครงการไปเสนอธนาคาร เราคงจะบอกได้ว่าเราจะสร้างอย่างไร แต่คงจะบอกไม่ได้ว่า จะขายใคร หรือว่าจะ ดำเนินการบริหารโครงการหลังจากที่เสร็จแล้วอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใ่ช่หน้าที่โดยตรงของเรา แต่การที่เราจะเข้าไปหาความรู้เรื่องพวกนี้นั้น เป็นเรื่องที่ยากเกินความสามารถเกินไปหรือไม่ แล้วการที่เราจะมีความรู้เหล่านี้ไว้กับตัวจะเป็นประโยชน์อย่างมากหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่สถาปนิกน่าจะไปลองคิดกันดู

รุปที่ 12 – BY THE DISABLE - ในมุมมองของคนพิการ
เป็นรูปที่เจ็บมากๆ ซึ่งอาจจะใช้ได้กับสถาปนิกในหลายๆ ประเทศทั่วโลกโดยรวมถึงประเทศไทย ที่กฎหมายเรื่องการเข้าถึงอาคารของคนพิการยังเพิ่งตั้งไข่ ในภาพคือ สถาปนิกในชุดเหมือนซูเปอร์แมน แต่มีตราบนหน้าอกเป็น RIBA (Royal Institute of British Architects) กำลังบินขึ้นบันไดไปยังห้องน้ำ ในขณะที่คนพิการด้านล่างนั่งหน้ามุ่ยอย่างหงุดหงิด ความหมายก็คือ เป็นการประชดอย่างแรงของผู้เขียนถึงสถาปนิกในความไม่เอาใจใส่ต่อ การเข้าไปใช้อาคารของคนพิการเท่าที่ควร ผู้เขียนเองไ่ม่ทราบว่ากฎหมายเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของคนพิการ ในประเทศอังกฤษแข็งแกร่งแค่ไหน แต่ไม่น่าจะแข็งแกร่งเท่าสหรัฐอเมริกาเพราะ อาคารส่วนใหญ่ในอังกฤษเ็ป็นอาคารเก่า อาจจะมีการผ่อนผันให้ไม่ต้องทำการดัดแปลงเพื่อคนพิการมากนัก ดังนั้นการที่สถาปนิกจะออกแบบให้ไม่เข้ากับคนพิการอาจจะเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้สำหรับคนทั่วๆ ไป และอาจจะรอดจากระบบกฎหมาย แต่จะพอเข้าใจได้สำหรับคนพิการหรือไม่อันนั้นก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของคนที่ต้องใช้รถเข็น สำหรับในกรณีของสถาปนิกไทย กฎหมายบ้านเราก็มีการพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิของคนพิการมามากมายพอสมควร แต่เกรงว่าคงยังไ่ม่มากพอ เราก็คงจะต้องถามตัวเองด้วยว่า เราควรจะทำเท่าที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้รอดตัวไปได้แบบที่เราทำประจำ หรือเราควรจะออกแบบให้เหมาะสมกับสิ่งที่ควรจะเป็น

รูปที่ 13 – BY THE NEW RIGHT - ในสายตาของกลุ่มขวาจัด
รูปที่เห็นคือ สถาปนิกในชุดไวกิ้ง มีขนาดเป็นยักษ์ปักหลั่่นใช้ อาวุธในมือคือ “อาคารสูง”ที่เป็นดาบ เข้ามาทำลายล้างตึกรามบ้านช่องที่เป็นอาคารทางวัฒนธรรมอันมีคุณค่าให้หมดสิ้นไปอยู่ใ้ต้ฝ่าเท้า ความหมายแฝงของภาพนี้ค่อนข้างลึกอีกเช่นกัน โดยกลุ่มขวาจัดของอังกฤษนั้นคือ พรรคอนุรักษ์นิยม ที่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า นิยมการอนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าแก่ และแน่นอนรวมถึงอาคารเก่าด้วย โดยพวกนี้เห็นสถาปนิกเป็นเหมือนเผ่าไวกิ้ง ที่มีลักษณะคือการเข้าปล้นสดมภ์ ทำลายล้างบ้านเมือง อย่างไม่เลือกหน้า ซึ่งสำหรับกรณีของสถาปนิกคือการใช้สถาปัตยกรรมยุคใหม่เป็นอาวุธนั่นเอง

รูปที่ 14 – BY THE OLD LEFT - ในสายตาของกลุ่มซ้ายจัด
รูปนี้จะต้องดูคู่ไปกันรูปที่ 13 เพราะเป็นมุขที่เชื่อมถึงกัน แต่มองกันคนละประเด็น ทำให้เกิดภาพที่ตรงกันข้าม กลุ่มซ้ายจัดในอังกฤษคือ พรรคแรงงาน ที่ปัจจุบันมี นายกรัฐมนตรี Tony Blair ก็มาจากพรรคนี้ โดยในรูปคือสถาปนิกที่มีสภาพเป็นสุนัข ในปากคาบอาคารสูง เหมือนกับในรูปที่ 13 น่าจะเป็นอาคารเดียวกัน โดยถูกจูงด้วยมือของนักธุรกิจ (โปรดสังเกตุแขนเสื้อสูทและซิการ์ราคาแพงในมือ) ความหมายก็คือ สถาปนิกเป็น สุนัขรับใช้ของนายทุนนั่นเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจถ้าดูโดยรวมระหว่าง รูปที่ 13-14 ก็คือ เราอยู่ในสภาพที่อยู่ตรงกลาง ทางฝ่ายอนุัรักษ์ก็บอกว่าเราเป็นพวกที่เข้ามาทำลายความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม ส่วนพวกซ้ายจัดก็บอกว่าเราเป็นผู้รับใช้นายทุน ก็กลายเป็นว่า เราโดนทั้งขึ้นทั้งร่องนั่นเอง โดยผู้เขียนคิดว่า กรณีนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทย (ยังไม่เกิด) แต่เป็นเรื่องที่เราน่าจะนำมาคิดว่า เราเคยอยู่ในสถาณการณ์ที่โดนทั้งขึ้นทั้งร่องแบบนี้บ้างหรือไม่ ถ้ามีเราควรจะหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร

รูปที่ 15 – BY THE FREUDIAN - ในมุมมองผู้ที่เชื่อในแนวคิดของ Dr. Sigmand Freud
เป็นมุข ที่ค่อนข้างจะตรงไปตรงมามาก โดยดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องความเห็นของผู้เขียนการ์ตูนเองมากกว่า Dr.Freud นั้นคือผู้ที่คิดทฤษฎี “เซ็กส์ครองโลก” นั่นเอง โดยมีแนวคิดหลักคือ พฤติกรรมของมนุษย์ ต่างๆ ไ่ม่ว่าชายหรือหญิง มีที่มาจากลักษณะทางเพศของตนทั้งสิ้น ซึ่งในรูปคือ สถาปนิกที่ทำตาค่อนข้างลามก กำลังเขียนแบบอยู่บนโต๊ะ โดยแบบที่เห็น ค่อนข้างจะเป็นส่วนผสมที่จะดูเป็นอวัยวะเพสชายก็ใช่ หรือว่า จะเป็นหน้าอกของสตรีก็ได้ โดยคนเขียนต้องการประชดให้เห็นว่า การที่สถาปนิกออกแบบอาคารสูง ต่างๆ ก็เป็นเรื่องของ ego ส่วนตน โดยที่ถ้าเป็นเพศชายก็เอาเพศชายเป็นใหญ่ ถ้าเป็นหญิงก็เอาเพศตัวเองเป็นใหญ่เช่นกัน

รูปที่ 16 – BY THE FEMINIST - ในมุมมองของนักเรียกร้องสิทธิสตรี
เป็นมุข ที่ตรงไปตรงมาอีกครั้งหนึ่ง โดยในรูปคือ สถาปนิกในใบหน้าที่นิ่งสงบ กำลังทำงานที่โต๊ะเขียนแบบอย่างขมักเขม้น งานทีทำคือกำลังสร้างอาคารที่ขังสตรีอยู่ในกรง โดยสตรีตัวจริงคนนั้น ก็นั่งพิมพ์ดีดอยู่ในสำนักงานเป็น Background นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีรูปของ ภาพโป๊เปลือย บนผนังที่มีคำว่า acme หรือ จุดสูงสุด(สุดยอด) อยู่ด้วย โดยความหมายก็คือ สถาปนิกเป็นคนบ้ากาม และกฎขี่ผู้หญิงนั่นเอง ซึ่งจุดนี้ข้าพเจ้าคิืดว่า เป็นเรื่องส่วนบุคคล และสถาปนิกที่เป็นผู้หญิงก็มีมาก ไม่น่าจะมานับรวมกันได้

รูปที่ 17 – BY THE SECRETARY - ในมุมมองของเลขานุการ
อันว่าเลขานุการในสำนักงานสถาปนิก ก็คือผู้ที่ทำการรับผิดชอบเรื่องเอกสารและงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบทั้งหมดนั่นเอง โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นผุ้ที่ีมีความสามารถในการใช้ภาษาได้ดี ภาพที่เห้นคือสถาปนิกในชุดเด็ก ใส่หมวกแก็ป กางเกงขาสั้น มีไม้่ยิงก้อนหินอยู่ในกระเป๋า(หนังสติ๊ก) นาฬิกาที่เห็นอยุ่เบื้องหลังคือเวลาที่เลย 4 โมง ไปแล้ว หมายถึงหมดเวลาทำงานแล้วนั่นเอง(หรือใกล้หมด) แต่ดันเพิ่งเอาจดหมายที่เขียนอย่างยุ่งเหยิง พร้อมกับอาการที่เหมือนกับไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรอยู่มาให้เลขาพิมพ์ ความหมายก็คือ เราสถาปนิกเป็นคนที่เขียนจดหมายไม่เป็น ใช้ภาษาอย่างเป็นทางการได้แย่มาก อันนี้หลายๆ ท่านอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะว่าเราคิืดว่า ขอให้คุยกับผู้รับเหมา กับที่ปรึกษาให้รู้เรื่องก็พอแล้ว แต่การมีทักษะในการเขียนจดหมายหรือเอกสารที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่เราทุกคนน่าจะ มีเพราะทุกวันนี้รายได้ที่เรามี ก็แทบจะไ่ม่มีปัญญาจ้างเลขากันแล้วใช่หรือไม่

รูปที่ 18 – BY THE RIBA – ในมุมมองของสมาคมสถาปนิกอังกฤษ
RIBA คือ Royal Institute of British Architect เทียบเท่าได้กับ อาษา ของเรานั่นเอง (แต่ไม่ทราบว่า RIBA มีสิทธิทางกฎหมายอะไรหรือเปล่า) ภาพที่เห็นคือสถาปนิก เดินไปเดินมา มีป้ายอยู่บนตัว หน้าอยู่กลางกรอบ เขียนว่า “ใช้สถาปนิก - เราไปทุกที่ เราทำทุกอย่าง ด้วยราคาที่เหมาะสม” โดยความหมายคือ RIBA เห็นสถาปนิก เป็นสินค้าที่ต้องขายให้ออกให้ได้นั่นเอง ภาพที่เป็นป้ายโฆษณาคือการประชดถึงนโยบาย ที่อาจจะเป็นการลดค่าสถาปนิกมากกว่าการที่จะเพิ่มศักยภาพ เป็นสิ่งที่น่าจะนำมาคิดพอสมควรสำหรับ ASA ของเรา ซึ่งเรายังไม่มีปัญหาตรงนี้ เพราะเราไม่ได้ไปทำหน้าที่ ขายสถาปนิกเต็มๆ แต่ ณ จุดหนึ่งหากการขายหรือสนับสนุนโอกาสการทำวิชาชีพกลายมาเป็นนโยบายของสมาคมแล้ว เรามีอะไรที่จะต้องพิจารณากันบ้างโดยไม่ให้เกิดเหตุการณ์ของการลดแลกแจกแถมแบบสินค้าทั่วๆไป (ทุกวันนี้เราก็ลด แลก แจก แถมกันเองอยู่มากพอสมควรแล้วใช่หรือไม่)

รูปที่ 19 – BY THE ROYALTY - โดยกลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์
อังกฤษเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองเหมือนประเทศไทย คือเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (ในกรณีของอังกฤษคือพระราชีนี) มีนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน และแน่นอนว่าก็มีกลุ่มที่เป็นผู้นิยมและสนับสนุนกลุ่มเจ้าเหล่านี้เช่นกัน ภาพที่เห็นคือสถาปนิกอยู่บนตะแลงแกง เตรียมตัวได้รับการประหารโดยการตัดหัว (เป็นการประหารในยุคกลาง สั่งการโดยพระมหากษัตยริย์) ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจว่าทำไม กลุ่มผู้นิยมราชวงศ์ถึงได้เกลียดสถาปนิกขนาดถึงจะนำไปฆ่าให้ตาย สาเหตุก็อาจจะเป็นเพราะเหตุผลเดียวกับที่ผ่านๆ มาในข้ออื่นๆ คือสถาปนิกอังกฤษเป็นผู้นำรูปแบบอาคารที่อาจจะเรียกได้ว่า Innovative ที่สุดเข้ามาในสังคมสถาปนิกโลกก็ว่าได้ แต่สิ่งที่ Innovative เหล่านี้ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องถูกใจเหล่าผู้นิยมราชวงศ์ทั้งหลายเพราะเหมือนกับเป็นการทำให้เสียความสง่างามของบ้านเมืองที่มีมาแต่โบราณไป

รูปที่ 20 - …AND BY HIMSELF

เป็นรูปจบที่ดีที่สุด โดยเป็นรูปของสถาปนิกที่มีดาบและย่ามสะพายซึ่งเป็นลักษณะของนักรบสงครามครูเสด (Knights Templar) ที่ยืนอยู่ท่ามกลางความมืด มืออีกข้างหนึ่งถือคบไฟที่ส่องสว่างไปทั่วปฐพี โดยเบื้องล่างนั้นคือประชาชนทั่วๆ ไปที่หันหน้าไปมา ไร้ทิศทาง ความหมายก็คือ สถาปนิกเราคิดกับตัวเองเหมือนกับเป็นนักสู้แห่งศรัทธาเพื่อการปลดปล่อยมวลมนุษยชาติจากความมืดมิด ซึ่งเป็นภาระหน้าที่อันใหญ่หลวง ต้องการการเสียสละอย่างที่สุด แม้ชีวิตก็ให้ได้
สิ่งที่น่าสนใจจากภาพนี้คือ จากที่มีภาพพจน์มากมายหลายอย่าง หลายแง่มุม ดีหรือร้าย น่าชื่นชมหรือน่าหัวเราะเยาะ แต่ในความคิดของตัวเองนั้น สถาปนิกกลับมีความเชื่อมั่นต่อความสำคัญต่อวิชาชีพของคนเองต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งต้องแยกเป็นประเด็นที่ชัดเจนออกไปว่า นี่คือสิ่งที่เขาคิดเอง หรือว่า เป็นสิ่งที่เขาคาดหวังว่าจะใ้ห้สังคมมองเขาเป็นแบบนี้กันแน่

สิ่งที่ได้จาก cartoon ชุดนี้ น่าจะเป็นสิ่งทีทำให้สถาปนิกไทยหลายๆ คนได้นำไปคิด โดยที่น่าจะเป็นการเปิดประเด็นต่างๆ ในมุมที่แตกต่างกัน เพราะแต่ละคนอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ว่า ตรงนี้ผมมีปัญหาจริง หรือตรงนี้ผมเก่งแล้ว แต่ประเด็นนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่า คนเขียนการ์ตูนชุดนี้สื่อความหมายได้ถูกหรือไม่ ประเด็นยังจะต้องกลับมาอยู่ที่เรื่องของ ภาพพจน์ที่เราต้องการให้คนในสังคมเห็น

โดยความเป็นจริงแล้ว การสร้างภาพพจน์ของสถาปนิกให้สังคมได้เห็น เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายอยู่แล้ว เนื่องจากเรามีหลักจรรยาบรรณวิชาชีพที่มีเรื่องเกี่บวกับการจำกัดการโฆษณาอยู่ แ้ล้วโดยแนวทางวิชาชีพของเราก็เป็นการทำงานกับกลุ่มลูกค้าเล็กๆ ที่มีทุนมาก ไม่ได้สนใจกับประชาชนชั้นกลางหรือชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมสักเท่าไหร่ ดังนั้นถ้าหากจะมีการวิเคราะห์วิจัยเพื่อสร้างแนวทางการทำการตลาดของวิชาชีพสถาปนิกขึ้นมา ก็จะเป็นการตลาดที่แตกต่างกับการตลาดทั่วไปเป็นอย่างมาก และยังไม่นับไปถึงการที่พวกเราส่วนใหญ่ที่จริงๆแล้ว สักวันจะต้องพัฒนาไปเป็นเจ้าของกิจการกันเอง นั้น ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการตลาดพื้นฐานเป็นอย่างไร

ถ้าหากเราคิดว่า รูปสุดท้ายในการ์ตูนแห่งนี้คือรูปแห่งความภาคภูมิใจที่เราอยากให้คนในสังคมได้เห็น เราก็คงจะต้องสนใจความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนในสังคมกลุ่มต่างๆ นอกเหนือไปจากลูกค้าของเรา หรือพวกเรากันเอง ให้มากขี้น โดยที่เราอาจจะต้องทำ cartoon แบบนี้ในบริบทของสังคมไทย แล้วเราจะได้มาลองนั่งดูกันว่า ใครคิดกับเราอย่างไร เขาเข้าใจถูกหรือไ่ม่ และถ้าไม่ เราจะทำอย่างไรให็เขาเข้าใจได้ถูกต้อง

และสุดท้าย เราอาจจะต้องคิดหนักในสถาณการณ์ที่แย่ที่่สุดคือ ถ้าเขาเกิดเขาเห็นแ่ต่ด้านลบ แ้ล้วมันกลายเป็นด้านลบที่เป็นความจริงขึ้นมา เราจะแก้ไขตัวเราเองได้อย่างไร

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ