Sunday, January 14, 2007

ตอบกระทู้: เรียนสถาปัตย์มาห้าปีได้อะไร

เพิ่งได้ มาติดตามกระทู้นี้อีกที ปรากฎว่ากลายเป็นกระทู้ที่สนุกมาก ขอร่วม Jam อย่างเร็วๆ ละกันนะครับ (เดี่ยวจะต้องไปซักผ้าต่อ)

ก่อนอื่นขอ Quote ของพี่วิญญูก่อนเลยว่า พี่วิญญูเข้าประเด็นได้จะแจ้งมาก ทั้งสองเรื่อง

วินัย และ การเปลี่ยนจากนักเรียนมาเป็นมืออาชีพ

สองเรื่องนี้ เราหย่อนยานกันมากในสมัยเรียนหนังสือ ตั้งแต่แต่งตัวไม่ตรงตามระเบียบ มาสาย ไม่Organize และแน่นอน ส่งงานไม่ทัน (คนที่ส่งทันก็ทันตลอด คนที่ไม่ทันก็ไม่เคยทัน) อะไรทั้งหลายแหล่ ทำตัวเป็น Artist มากทั้งๆ ที่เราไม่ใช่ Artist ซึ่งผมก็ต้องบอกว่า ผมก็เป็น สมัยเรียนหนังสือ แบบนั้นเลย ไม่รู้ว่าเพราะ trend มันไปแบบนั้นเลยต้องตามๆ กันหรือมันเป็นเพราะอะไร แต่ต้องมา Research กันเหมือนกัน

แต่ผมก็ต้องบอกว่า สันดานพวกนี้ มันดัดได้นะครับ ขึ้นอยู่กับการที่เราไปอยู่ใน Environment แบบไหน ถ้าเราไปอยู่ใน สำนักงานที่เขาไม่สนใจเรื่องการเข้างาน คนก็มากันตามสบาย ถ้าไปอยู่ในสำนักงานที่ไม่มี นโยบายและการลงโทษที่เฉียบขาด เกี่ยวกับเรื่องการแอบเล่น internet หรือการแอบ chat คนก็เล่นกันเต็มที่ ตั้งแต่ surf net ประมูลของใน E-bay แล้วก็ chat กับเพื่อนไปด้วย ฟังเพลงไปอีกต่างหาก เจ้านายเรียนกก็ไม่ได้ยิน พอดี งานการไม่เดินกัน

อันนี้ไม่ได้ว่า ทุกออฟฟิสของทำเหมือนกัน ใครชอบแแบบไหนก็ทำได้ อย่าง Kohn Pedersen and Fox นี้ เขามีนโยบายปล่อยเลย ให้เป็นระเบียบของหัวหน้าทีม ถ้าทีมบอกว่า ให้เขา 11 โมงเช้าก็ได้ ก็ตามนั้น แต่ต้องทำงานอย่างน้อยอาทิตย์ละ 40 ชั่วโมง อันนั้นก็เป็นวิธีการจัดการของเขา

แต่ถ้า office ไหนเฉียบขาด ทั้งหมดนี่จะไม่เกิด เพราะว่า คุณเป็นผู้มีอำนาจ คุณเป็นคนจ่ายเงินเดือน

ประเด็นคนคือคนที่ Enforce กฎพวกนี้ ทำได้หรือเปล่า คุณพ่อของผมท่านเป็นคนที่ตรงต่อเวลามาก เคยบอกผมไว้เรื่องนึงว่า เรื่องอะไรที่ตัวเองทำไมได้ อย่าไปหวังว่าจะให้ลูกน้องทำตามได้ เพราะเราเป็นหัวหน้า เราต้องเป็นคน set the bar พ่อผมท่านเห็นลูกน้องมาเข้างานสายบ่อยๆ วันหนึ่ง ก็เลยบอกว่า ต่อไปนี้ ประชุม ตอนเช้าทุกวัน พอบอกอย่างนั้น คนก็ยังไม่ค่อยสนใจ บางคนเข้างานตรงเวลา มาถึง 8 โมง ดันไปเล่น internet ถึง 8 โมง สิบนาที เดินเข้ามาห้องประชุม สติแตก พ่อผมท่านเปิดแฟ้มรอแล้ว นั่งกันแทบไม่ทัน หลังจากนั้น หนึ่งอาทิตย์ผ่านไป ไม่มีใครสายเลย เพราะพ่อผมท่าน เล่นว่า ถ้า 8 นาฬิกาปั้บ เปิดแฟ้มทันที เริ่มพูดทันที ใครไม่มาก็ไม่รอ (ไม่เคยถามเหมือนกันว่า แล้วถ้าอยู่คนเดียวจะเปิดแฟ้มลุยเลยหรือเปล่า)

เพราะฉะนั้น กฎ ไม่มีความหมายครับ ถ้าไม่มีการบังคับใช้ แล้วถ้าคนบังคับใช้ หย่อยยานเอง อย่าไปหวังให้คนทำตาม ทุกวันนี้ ความมีระเบียบเรียบร้อยใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ทุกแห่ง เป็นเรื่องของ อาจารย์ผ่านกิจการนิสิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลกว่า ถ้าอาจารย์คนหนึ่งเป็นอาจารย์กิจการนิสิต ถ้าเจอนักเรียนทำตัวไม่เรียบร้อยจะเข้าไปว่ากล่าวตักเตือน แต่ถ้าพอหมดตำแหน่งแล้ว ไปทำอย่างอื่น เจอนักเรียนพฤติกรรมเดียวกันกลับไม่ใส่ใจ เพราะถือว่าตัวเองไม่ได้เป็นรองกิจการนิสิตแล้ว แบบนี้มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่าไปไปหวัง

เรื่องที่สองคือเรื่องการเป็นมืออาชีพ จริงอย่างที่พี่วิญญุว่า ในโรงเรียนเราสอนกันน้อยมาก ผมจำได้ว่า ในสมัยผมเรียน อาจารย์ที่สอนผม คือท่านอาจารย์ อวยชัย วุฒิโฆษิต ท่านเป็นอาจารย์ผู้รอบรู้อย่างมากเรื่อง การออกแบบโรงพยาบาล แต่ผมก็จำได้ว่า แอร์มันก็เย็น วิธีการพูดของท่านอาจารย์มันก็ช่างนุ่มนวล พาให้เข้าสูภวังค์ แล้วก็เข้าไปจริงๆ อาจจะเป็นกรรมหรืออย่างไรก็ได้ ทุกวันนี้ไป Lecture ที่ไหนก็อดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงเรื่อง Professional Practice เกือบทุกๆ ครั้ง


แต่ประเด็นของผมคือ ผมจำได้ว่า วิชานั้น เรียนครั้งเดียว น่าจะตอนปี 4 แล้วก็ไม่เคยได้ยินอะไรอีกเลย

ผมจำได้ว่า ตอนที่ผมจบ ผมไม่รู้ว่าวิศวกรมีหน้าที่อะไร มารู้อีกทีคือตอนที่ทำงานแล้ว ว่าเออ ไอ้วิศวกรมันเป็นพวกเรานี่ ทำไมสมัยเรียน เราไม่เคยชอบคณะวิศวะเลยนะเนี่ย (แต่คิดอีกแง่ วิศวกรก็กลายไปเป็นผู้รับเหมาที่ต้องงัดข้อกับเราก็เยอะ)

เพราะฉะนั้นผมเห็นด้วยกับพี่วิญญูว่า เรามีปัญหา จริงๆ

ส่วนตัวผมเองนั้น ถ้าเลือกได้ อีกหน่อยมีโอกาส โชดดีได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยกับเขาบ้าง ก็อยากจะเอาวิชานี้เป็นวิชาประจำตัว ขอสอนเเองเลย ถือว่าเป็นการใช้กรรมที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียนกับครูบาอาจารย์สมัยนั้น แล้วก็จะได้ช่วยๆ Inspire เด็กๅ เพราะผมเชื่อว่า จริงๆ แล้วกรอบวิชานี้ กว้างใหญ่ไปศาลมาก ตั้งแต่การบริหารโครงการ บริหารสำนักงาน บริหารการเงิน กฎหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล บริหารความเสี่ยง มีเรื่องให้คุยไม่รู้จักจบ ถ้าคุยถูกวิธี ยกตัวอย่างให้สนุก นักศึกษาต้องได้อะไรมากแน่นอน (วิชาที่ผมไม่อยากสอนเลยคือ ออกแบบ เพราะไม่คิดว่าตัวเองออกแบบเก่ง)

แต่ถ้ามองในองค์รวมก็อดไม่ได้ที่จะถามคำถามว่า ทำไม Professional Practice ต้องเป็นวิชาหนึ่งที่แยกออกไป เพราะมันน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของทุกๆ วิชาอยู่แล้ว ในเมื่อเราเข้ามาเรียนหนังสือ เพื่อที่จะจบไปพร้อมที่จะเป็นมืออาชีพ ทำไมต้องมามีวิชาเล็กๆ สอนให้เราเป็นมืออาชีพอีก อันนั้นน่าคิด

คำตอบก็คือ อาจจะเป็นเพราะทุกวันนี้ อาจารย์ที่ทำงานเต็มเวลา ไ่ม่เคยทำงาน (มีน้อยมากที่ เป็นอาจารย์เต็มเวลา แล้วก็ยังประกอบวิชาชีพอยู่ ซึ่งในสหรํฐอเมริกา ปัญหานี้ก็รุนแรงมาก) อาจารย์ที่ได้รับทุนมหาวิทยาลัยถึงปริญญาเอก ร่ำเรียนมานานแสนนาน จบมาเป็น ดร. แต่ไม่เคยเป็นลูกน้องที่ทำงานในบริษํทไหนเลย เป็นบุคคลจากหอคอยงาช้าง ลงมาโปรดสัตว์โลกผู้ยากไ้ร้ทางวิชาการ ซึ่งผมก็เชื่อว่าท่่านเหล่านี้มีวิชาความรู้ดีจริงๆ แต่จะให้สอนเรื่องความเป็นมืออาชีพ ผมว่าเป็นไปได้ยาก ในเมื่อท่านไม่เคยเป็นมืออาชีพมา่ก่อน แล้วการที่จะเอาอาจารย์ข้างนอกมาสอน ความผูกพัน ความต่อเนื่องมันก็น้อยอีก (ซึ่งเทียบกับสมัยก่อน การเป็นช่างคือ ครูพักลักจำ มันจะตรงไปตรงมา ไปเรียนเอาจากการทำงานจริง สมัยนี่คือเรืยนในโรงเรียน ฝึกวิทยายุทธแล้วลงจากเขามาลองท่องยุทธจักร พอลงมารู้ตัวว่า วิทยายุทธที่ฝึกมา ใช้ไม่ได้กับโลกแห่งความจริง เพราะอาจารย์ฺสอนมาไม่ตรงกับโลกข้างล่าง ก็เผ่นกลับขึ้นเขาแทบไม่ทันไปเป็นอาจารย์ที่หลุดออกไปจากโลกภายนอกเหมือนเดิม หรือไม่ก็ พายเรือออกจากแผ่นดินไปหาโลกใหม่อยู่เลย….

……แต่ถ้าใครลงมาแล้ว ใช้วิทยายุทธที่ได้ร่ำเรียนมาเป็นพื้นฐาน ตั้งสติดีๆ เปิดหูตาให้กว้างๆ เรียนรู้จากยอดยุทธอื่นๆ ที่อยู่รอบข้าง เขาผู้นั้นก็อาจจะกลายเป็าเจ้ายุทธจักรได้เหมือนกัน….

….เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องของ ทางเลือกแต่ละคน ใครอดทน ใครอ่อนแอ ใครหนักแน่น ใครจับจด ใึครขี้ประชด ก็ว่ากันไป ….

พูดมาเสียยาวก็ ขอตอบประเด็นเจ้าของกระทู้ ก็คือว่า

ผมคิดว่าการเรียนมาห้าปี นั้น สิ่งที่เราได้คือ “วิธีการเผชิญปัญหาและแก้ปัญหา” ซึ่งหลายๆ คณะไม่ได้เจอแบบเรา เขาอ่านหนังสือ แล้วเขาก็ไปสอบ เขาไม่มี task มาอยู่ตรงหน้าแล้วต้องทำให้เสร็จ (ถ้าเขาไปทำ ปริญญาโทถึงจะได้เจอ) ซึ่งเราต้องนับว่า เราล้ำหน้าสาขาอื่นไปหลายๆ สาขา ถ้าพูดถึงในแง่ของการใช้ชีวิต (ยกเว้น แพทย์ อันนั้นเขาเจอโครงการที่เรียกว่า คนไข้ วันละเป็นสิบคน แต่ ทนาย หรือ วิศวกร อย่างมาก็มีแค่ case มาให้ศึกษา ไม่เคยได้ลองลงมือทำจากอากาศ ทนายก็ไม่เคยว่าความตอนเรียนหนังสือ)

เพราะฉะนั้น การศึกษาที่พวกเราได้จากสาขาวิชานี้คือการศึกษาวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งได้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเราหัดจัดการให้ดี เราเอาไปปรับใช้กับอะไรก็ได้ นั่นอาจจะเป็นคำตอบว่า ทำไมถึงได้มีคนออกไปทำงานอย่างอืนแล้วประสบความสำเร็จ เพราะเขาได้ ทักษะ ตรงนี้ไป แต่เขาเอาไปปรับใช้ในสิ่งที่เขาชอบ

อยากจะบอกอีกอย่าง ที่คุณ Seim กับพี่วิญญูเถียงกันนี่ มันมีประโยคที่พูดถึงในวงการสถาปนิกที่ สหรัฐนี่บ่อยๆ ว่า

The guy who get and “A” end up being a teacher. And a guy who get a “B” end up working for a guy who get a “C”

แปลว่า คนที่เรียนได้เกรดสี่ ก็จะไปเป็นอาจารย์ ส่วนคนที่ได้เกรดสาม จะต้องไปทำงานเป็นลูกน้องคนที่ได้เกรดสอง

เพราะอะไร เพราะว่าคนที่ได้เกรดสอง มันเป็นพวกรอบจัด เรียนหนังสือพอผ่าน เอาเวลาไปเข้าสังคม รู้จักเพื่อนฝูง สร้าง network กลายเป็นคนที่มีเพื่อนมาก แล้วพอจบมาำทำงาน ก็พวกเพื่อนๆ พวกนี้ล่ะ ขน Project มาให้ เพราะผมเชื่อว่า ทุกๆ ท่านในที่นี้ก็รู้ว่า เวลาคนเขาจะให้งานกัน เขาอาจจะไม่ให้คนที่เก่งที่สุด แต่เขาจะให้คนที่เขาไว้ใจที่สุด แล้วใครจะเป็นคนที่เขาไว้ใจ ถ้าไม่ใช่เพื่อนเขา ที่จะปกป้องการลงทุนอันมหาศาล ในการก่อสร้างของเขา ได้ดีกว่าเพื่อนแ้ท้ของเขา (อันนี้ไม่ใช่โฆษณา บริษัทประกันนะครับ)

เพราะฉะนั้น Scenario ที่คุณ Siem พูด ที่ว่า

“แต่เท่าที่เห็นจนถึงเดี๋ยวนี้ ส่วนใหญ่ไอ้พวกเด็กที่โดดๆเนี่ย ออกมาแล้วทำงานด้วยง่ายกว่า,ไปได้ดีกว่าพวกเข้าเรียนทุกๆครั้ง คะแนนดีๆซะอีก........จริงๆนะ”

ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ครับ มันขึ้นอยู่กับว่า คนๆ นั้น “โดด” เรียน แล้วเอาเวลาไปทำอะไร ไปทำกิจกรรม กับเพื่อนๆ คณะอื่น เข้าสังคม ทำอะไรที่เขาคิดว่าเป็นประโยชน์ ฝึกทักษะที่เขาสนใจ (เรียนมหาวิทยาลัย คิดว่าอะไรมีประโยชน์ก็น่าจะคิดเอง ตัดสินใจเองได้) แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าคนๆ “โดด” แล้วเอาเวลาไปทำอะไรที่ไร้สาระ ไม่ได้พัฒนาตัวเองตรงไหน มันก็ไม่น่าจะไปรอดเหมือนกัน

ผมเห็นด้วยกับคุณ Siem อีกเรื่องนึงคือเราให้ความสำคัญกับ ป้าย หรือคะแนนมาก ที่คุณแม่ของผม ต้องเคียวเข้ญให้ผมไปเรียน ปริญญาเอกมาให้ได้ ส่วนหนึ่งก็คือ อยากให้ลูกฉลาด (ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จุดประสงค์นี้สำเร็จแล้วหรือยัง อาจจะยังก็ได้) สองก็คือ เป็น ป้าย ที่จะเอาไว้ให้คนได้เห็นแล้ว ต้องขยับถอยหลังหนึ่งก้าว ถ้าคิดจะลองดีทางวิชาการ ซึ่งมันเป็นความจริงอันน่าเจ็บปวดจริง

เพราะว่า มันเหมือนกับ ผมเป็นนักท่องยุทธจักร มาดดี มีกระบี่ชั้นหนึ่ง Form ดีมากๆ ดูแล้ว น่าเกรงขาม แต่มันจะมีประโยชน์ อะไร ถ้าผมดึงกระบี่ออกมาฟาดฟันกันแล้ว ผมแฟ้คนที่ ดูมาดไม่ค่อยดี กระบี่ห่วย form ก็ไม่เข้าตา

คนจบปริญญาเอก ก็คือมีป้าย การพูดการจาก็คือ การร่ายรำอยู่คนเดียว อาจจะสวยงามเพราะมีครูดี แต่ถ้าถึงเวลาต้องประจันหน้าคู่ต่อสู้ แล้วคุณจอดภายในสามเพลง มันก็ไม่มีค่าอะไร

ผมขอเป็นยอดยุทธ ใส่เสื้อผ้าโทรมๆ มีไม้ไผ่หักๆ อันเดียว แต่เจอศัตรูเป็นร้อย ฟาดฟันให้แตกพ่ายในพริบตา ดีกว่าเยอะ

แต่ทำไงได้ เข้าเมืองตาหลิ่ว ก็ต้องหลิ่วตาตาม ในเมื่อสังคมไทย มองคนที่เรื่องของป้ายเป็นเรื่องใหญ่ ผมก็เลยต้อวิ่งไปเอาป้ายมาก่อน แล้วทุกวันนี้ก็พยายามฝึกวิทยายุทธ ไปพลางๆ

คำไทย ถึงได้มีไงครับว่า “ท่าดี ทีเหลว” ผมก็พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่เข้าไปอยู่ในกลุ่มนี้ ถ้าเป็นไปได้

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ต้องมีศีลธรรมด้วย

ผมพูดจริงๆ เลยว่า ความรู้ที่ผมมีหลายๆ อย่าง ที่ได้เอามา shareๆ กับท่านทีอยู่ในที่นี้ ได้มาจากตอนที่ผมไปทำงานทั้งสิ้น บางท่านอาจจะบอกว่า ก็ผมจบ U ที่ไม่ดัง ก็ต้องยอมรับครับ ผมไม่ได้จบ U top ten อะไร แต่ผมก็ไม่ได้พยายามจะแข่งอะไรกับใคร แต่พยายามแข่งกับตัวเองทุกวันอยู่

สุดท้ายอยากจะขอ Quate อันนี้

“ฉันโง่ ฉันเขลา ฉันทึ่งฉันจึง มาหา ความหมายหวังได้ กลับไป มากมายสุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว”

ผมว่าตรงนี้ คือจุดวิกฤติการศึกษาของประเทศไทย เราตั้งโจทย์ในการศึกษาผิด

เราคิดว่า เราไปเรียน เรามุ่งหวังปริญญา เราไม่ได้มุ่งหวังความรู้

ถ้าเรามองการศึกษาเหมือนกับการเล่นตู้เกมตามห้าง ทุกอย่างมันจะออกมา clear มาก

คุณไปเล่นตู้เกม คุณจ่ายเงิน สิ่งที่คุณได้คือะไร แน่นอน คุณได้ ความมัน และอีกอย่างที่คุณได้คือ “ความรู้”

ผมไม่ได้พูดถึงความรู้ที่จะเอาไปหาเงินอะไร แต่เป็นความรู้ที่เป็นทักษะ คุณได้ฝึกฝนทักษะ ซึ่งจะทำให้คุณเล่นเกมได้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ในโอกาสต่อๆ ไป คุณเล่นแพ้ คุณก็จ่ายเงินเข้าไป เล่นใหม่ ยิ่งเล่นมาก ทักษะ คุณก็ดีมาก แล้ววันหนึ่ง คุณก็เล่นจนจบ สิ่งที่ได้คือทักษะระดับสูง ซึ่งถ้าคุณกลับมาเล่นอีก คุณก็ต้องเล่นได้ดีแน่นอน

เกมตู้ของเรา เป็นเกมตู้สถาปัตยกรรม ต่างกันกับเกมตู้ทั่วไปก็คือ เกมตู้ของเรา ฝึกทักษะที่จะออกไปประกอบวิชาชีพได้

เวลาคุณสอบตก ก็คือคุณเล่นไม่ผ่าน คุณจะมาอ้างอะไรได้ ? ตู้เกมมันจะยอมคุณมั้ย?
มันจะยอมคุณมั้ย ถ้าคุณบอกว่า แหม ผมจะฆ่า boss ด่านนี้ได้แล้ว พลังมันเหลือแค่ขีดเดียวเอง แต่ผมดันตายก่อน ให้ผมผ่านไปด่านต่อไปเถอะนะ ?
มันจะยอมคุณมั้ยถ้าคุณบอกว่า โหย Hard Mode ยากจัง ขอเล่นแบบ Easy mode แต่ขอดูฉากจบ แบบ Hardmode นะ?

มันคงไม่ยอมคุณหรอกใช้มั้ยครับ

เช่นกันถ้า คุณเป็นผู้เล่น เข้ามาเล่นแล้ว สิ่งที่ได้คือ ความมัน และ skill ที่จะเอาเป็นเล่นต่อในโลกภายนอกได้จริงๆ ปริญญา ไม่ปริญญา มันไม่น่าจะสำคัญมาก (เวลาเล่นเกมจบ คุณสนใจมั้ยว่า มันมีกระดาษ print ออกมาให้เป็นการประกาศให้โลกรู้ว่า คุณเล่นเกมนี้ได้เก่งมา จบแล้ว คุณจะสนทำไม ในเมื่อในใจคุณรู้ว่า คุณเล่นจบมาจริงๆ ด้วยความสามารถ ไม่ได้ไป print มาเอง)

เก่งไม่เก่ง ก็มาลองเล่นกันดู แข่งกันดูสิ เดี๋ยวก็รู้ว่าใครแน่กว่าใคร

ผมบอกได้เลยว่า ทุกวันนี้ จับผมไปแข่งกับ พี่ draft man บางคนที่จบ ปวส. ผมอาจจะโดนดาบเขาฟันขาดสองท่อนในสามเพลงก็ได้

เพราะฉะนั้น ต่อให้ผมจบ ด๊อกเตอร์มาอีกสามใบ ผมก็ไม่สามรถหยุดฝึกฝนวิทยายุทธได้ เพราะผมไม่อยาก “ตาย”

แต่ในขณะเดียวกัน ท่านๆ ที่เห็น คนถือป้ายด๊อกเตอร์ทั้งหลายเดินไปเดินมา ผมอยากให้ท่าน ขอท้าประลองให้ทั่วหน้าทุกๆ คน (แล้วแต่จะประลองเกมไหน)

ถ้าคุณไม่เคยประมือกับเขา คุณจะไม่มีทางได้รู้ว่าเขาเก่งแค่ไหน และที่สำคัญที่สุด “คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าตัวเองเก่งแค่ไหน” ถ้าไม่ได้ใช้ความสามารถที่ร่ำเรียน ฝึกฝนมาในการต่อสู้จริง อย่าไปกลัวคนพวกนี้ ถามคำถามไปเลย ลองภุมิไปเลย ท้าทายไปเลย ถ้าเขาแน่จริง เขาจะแสดงให้คุณเห็นเอง

เราต้องจบยุคที่ คนเรียนสูงก็ได้รับการยกย่องไปโดยอัตโนมัติโดยไม่มีการตราจสอบความสามารถอย่างแท้จริง

ถ้าทำได้แบบนั้น ผมเชื่อว่า เราจะได้สังคมวิชาชีพที่เป็นธรรมมากขึ้น จะได้นับถือคนที่ควรนับถือจริงๆ กันซะที

2 comments:

Nattonatto said...

เป็นบทความที่ดีมากๆค่ะ
ได้มาอ่าน เพราะเกิดคำถามว่า เรียนสถาปัตย์จบมาแล้วได้อะไร

เสิร์ชในกูเกิ้ลจึงเจอ
อ่านแล้วประทับใจ :)

Anonymous said...

ใบจ่ายเงินเดือน