Friday, February 24, 2006

จรรยาบรรณกับสถาปัตยกรรม

แปลและเรียบเรียงโดย ดร.พร วิรุฬห์รักษ์

จาก Ethics and Architecture
โดย John T. Matteson และ Mary Z. Donovan

เมื่อครั้งที่แล้ว มีการประชุมในระดับชาติในเรื่องของผลกระทบกับในความสัมพันธ์ระหว่าง จรรยาบรรณกับสถาปัตยกรรม เป็นการพิสูจน์ว่า วิชาชีพของเราได้เข้าไปสู่ยุคใหม่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถ้าหากจะเฉพาะเจาะจงลงไปในเรื่องของหลักทางศีลธรรมเป็นหลัก ก็จะไปสู่คำถามง่ายๆที่ว่า “เราจะเป็นสถาปนิกได้อย่างไร” โดยถ้าหันกลับไปดูในยุคที่พวกเราเรียนปริญญาตรีกันนั้น การเรียนวิชาจรรยาบรรณวิชาชีพของเราในโรงเีรียนสถาปัตย์ ได้มุ่งเน้นไปในเรื่องของหลักการทางศาสนา หลักปรัขญา โดยเราจะมีความคุ้นเคยกับบุคคล 3 คนเป็นหลัก ได้แ้่ก่ Thomas Aquinas, John Ruskin และ Martin Heidegger

จริงๆแล้ว คำถามนี้ได้ถูกนำมาขบคิดให้หนักขึ้น โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกามีเรื่องของการละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพอยู่มากมายในทุกๆวงการ โดยดูจากข่าวที่ออกมา เช่นการที่เหล่าผู้บริหารสถาบันการเงินและัสมุห์บัญชีที่ปกปิดการขาดทุนขององค์กร โดยทำตัวเลขกำไรปลอม หรือสร้างราคาปลอมให้กับสินทรัพย์ของตนเอง และมีการมาซื้อขายผ่านทางการข่าวภายใน (Insider Trading) ปั่นให้ราคาหุ้นพุ่งสูง จนแตกทำให้คนหมดเนื้อหมดตัวไปตามๆ กัน คนที่ทำการคดโกงเหล่านี้ล้วนแต่เป็นนักวิชาชีพ มีการศึกษาที่ดี แต่ไร้จรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพของตนเอง สุดท้ายก็ทำการหักหลักลูกค้าและผู้ถือหุ้นที่เชื่อใจเขาที่สุด (และในทีุ่สุดตัวเอง ก็ต้องติดคุกติดตาราง ถูกยึดทรัพย์จนหมด บางคนก็ถึงกับฆ่าตัวตายก็มี - ผู้แปล)

เมื่อครั้งที่เราประสบกับเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน นั้น สถาปนิกและวิศวกรต่างๆ ก็ต้องรับการวิจารณ์จากสาธารณะในแง่มุมที่มากหลาย ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป คนที่ไ่ม่เข้าใจปาฎิหารย์ของการที่อาคารได้อยู่นานพอที่จะเอาคนออกจากอาคารมากพอสมควรนั้น ได้ถามคำถามที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น การเจรจายินยอมในแง่ต่างๆ ของการก่อสร้าง (Compromise) ทำให้อาคารพังลงมาอย่างง่ายดายเช่นนี้ใช่หรือไม่? วัสดุ โฟมที่พ่นทับเหล็กไปเพื่อการกันไฟนั้นควรจะเกาะติดได้ดีกว่านี้หรือไม่ (หลังจากพบว่า วัสดุเหล่านี้หลุดออกหมดสิ้นในทันทีด้วยแรงกระแทกของเครื่องบิน ทำให้เหล็กเปลือยถูกเผาไฟโดยไม่มีการป้องกัน - ผู้แปล) ระบบตัวน๊อตที่เชื่อมโครงสร้าง (Bolted Connection) ที่ต่อเชื่อมระบบพื้นกับตัว Core ของลิฟต์ภายใน แข็งแรงเพียงพอหรือไม่ (พังลงเป็นโดมิโนทีละตัวเมื่อไฟเผาถึงจุด-ผู้แปล)? บันไดหนีไฟอยู่ใกล้กันเกินไปหรือไม่? ระบบดับเพลิงบนฝ้าเพดาน (Sprinkler) พังง่ายเกินไปหรือไม่? และที่สำคัญคือ ความกดดันที่จะต้องทำงานให้เสร็จทันเวลาทำให้เกิดการละเมิดกฎหมายอาคารที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยโดยตรงหรือไม่

เมื่อสาธารณะชนหมดความเชื่อถือในวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง หรือแม้กระทั่งเริ่มจะมีความกังขาขึ้นมาเล็กน้อยก็ตาม นั่นเป็นปรากฎการณ์ที่คนในวิชาชีพนั้นควรจะตื่นตัว และให้ความสนใจเป็นเรื่องอันดับต้นๆเพราะผลกระทบที่ตามมาก็คือ วิชาชีพนั้นจะเป็นวิชาชีพที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษและมักจะตามมาด้วยการมีกฎข้อบังคับมากมายมหาศาลในการควบคุมวิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพตามมา

ในกรณีของนักการบัญชี นักการธนาคารนั้น ได้มีกฎที่เข้มข้นและสลับซับซ้อนออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่ากฎหมายหลายๆฉบับในนั้น ได้รับการนำออกใช้เนื่องมาจากเหตุการที่เกิดขึ้นที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น สำหรับสถาปนิกแล้ว ถ้าสาธารณะชนหมดความเชื่อถือในตัวเรา ผลที่จะออกมาคือความเข้มข้นและซับซ้อนที่มากขึ้นของ กฏหมายก่อสร้างและควบคุมอาคาร และถ้าถึงที่สุด สาธารณชนก็อาจจะตั้งคำถามว่า เหล่าสถาปนิกมีความรู้มากพอที่จะอ้างตัวเองมารับผิดชอบชีวิตของผู้คนที่จะเข้าไปใช้อาคารของเขาหรือรับผิดชอบในเรื่ื่องอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคมหรือไม่ ในยุคที่มีการตรวจสอบรุนแรงในทุกๆ องค์กรเช่นนี้ เป็นเรื่องง่ายที่ความเชื่อถือของสาธารณะจะมลายหายไปในพริบถ้ามีเหตุการณ์ที่ไม่ชอบมาพากลในวิชาชีพเพียงไม่กีเหตุการณ์ สถาปนิกควรจะมีความตื่นตัวและยึดมั่นในเรื่องหลักเกฎฑ์ของจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างหนักแน่นและไม่พยายามหาทางที่จะละเมิดไม่ว่าจะเ็ป็นการกระทำโดยตรงหรือกระทำอ้อมๆ ด้วยเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ก่อนที่จะถึงตรงนั้น เราควรจะทำความเข้าใจกับความหมายและขอบเขตของจรรยาบรรณเสียก่อน

To Whom Shall We Be True?
เราควรจะืซื้อสัตย์กับใคร

แน่นอนว่า มีตัวแปรหลายตัวที่ทำให้วิชาชีพสถาปนิกของเรามีความหมิ่นเหม่ต่อการก้าวล่วงไปจากขอบลเขตของจรรยาบรรณมาแต่ครั้งโบราณและดูเหมือนว่าตัวแปรเหล่านี้ก็จะอยู่กับเราไปอีกนานอีกด้วย และประเด็นที่สำคัญที่สุดก็น่าจะมากจากเรื่องความหมายของวิชาชีพของเรา อะไรคือหลักการที่เราจะยึดไว้แล้วนำมาบอกกับสาธารณะได้ว่า เรามีความเป็นนักวิชาชีพ (Professional - แต่ไม่อยากจะแปลว่าเป็นมืออาชีพเพราะในสังคมไทยดูเหมือนจะแผลงเป็นแปลว่า เก่ง เป็นหลัก ขออนุญาติใช้คำว่านักวิชาชีพเป็นหลักตลอดบทความนี้ - ผู้แปล) แน่นอนว่าหลายคนคงคิดเหมือนกันว่าความเป็นนักวิชาชีพนี้ต้องมีมากไปกว่าการที่สะสมความรู้ไว้เยอะๆ หรือการที่สอบผ่านข้อสอบวิชาชีพ โดย วิชาชีพสถาปนิกของเราจะต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายในการที่จะปกป้องสาธารณะ นในด้านของ สุขภาพ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (Health Safety and Welfare) หรือถ้าจะแปลให้ตรงตัวคือ สถาปนิกเหล่านี้ยอมรับความรับผิดชอบเหล่านี้ไว้เพื่อโอกาสในการใช้ความรู้ของเขาเพื่อรับใช้สาธารณชน นั่นเอง

สำหรับในกรณีหนึ่งๆ นั้น ถ้ามองกันง่ายๆ สถาปนิกที่ทำการรับใช้ลูกค้าอย่างสุดความสามารถก็ดูเหมือนจะทำถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณในทุกๆอย่าง แต่ในการทำงานจริงนั้น ความซับซ้อนจะเกิดขึ้นคือเมื่อลูกค้าต้องการให้ทำอะไรบางอย่างที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของสาธารณะ เช่น ลูกค้าจะมาให้สร้าง บ้านจัดสรร 100 หลัง บนพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการลื่นไถลของธรณี ถามว่าสถาปนิกจะทำอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นคือความขัดแย้ง (Dilemma) เพราะการที่เราจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าสูงสุด อาจจะไม่ได้ตรงกับผลประโยชน์ของสาธารณะชนที่จะพึงมีก็ได้

สถาปนิกจะทำอย่างไร ถ้าเกิดมันเ็ป็นการเลือกระหว่างการที่จะต้องออกแบบให้ กระทบกระเทือนต่อสภาพแวดล้อม หรือทำอะไรที่น่าเกลียดมากๆ ไม่มีความงามแม้แต่น้อย กับการที่จะต้องไล่คนออกจากสำนักงานเพราะไม่มีเงินเดือนจ่าย หรือว่าการที่เราจะอยู่รอดได้ในทางธุรกิจนั้น คือการที่เราจะ้ต้องละทิ้งความรับผิดชอบต่อสังคมไปเสียเลย ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ?

Where we’ve come from
สิ่งที่เกิดขึ้น มันมาจากไหน

จริงๆ แล้วในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของประเทศของเรา(สหรัฐอเมริกา) ก็เดินทางผ่านการติดอยู่ระหว่างกลางระหว่างคำถามที่เป็นทางเลือกได้แก่ เราเป็นประเทศที่เน้นการแข่งขันในทุกๆด้านและเน้นให้แต่ละคนคิดแต่ประโยชน์ส่วนตน หรือเราเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความร่วมมือร่วมใจที่ยินดีที่จะทำงานต่างๆร่วมกันให้ไปถึงจุดมุ่งหมายของสังคมด้วยการนำทางอย่างมีประิสิทธิภาพของผู้ที่รับผิดชอบ?

เราต้องพึ่งพาคนที่มีอำนาจหน้าที่ ให้จะมาบอกเราว่าอะไรผิดหรืออะไรถูก แล้วบังคับให้เราทำตามความเหมาะสมอย่างที่เขาเห็น หรือว่าเราจะใช้ความรู้สึกผิดชอบชัวดีของตนเองจัดการกับปัญหาเองอย่างมีจรรยาบรรณได้่ จริงแล้วคนอเมริกันทั้งหลายไม่มีใครตอบคำถามนี้แบบอย่างเด็ดขาดเท่าใด ่ส่วนใหญ่จะทำไปด้วยกันทั้งสองทาง จนถึงที่สุดแล้ว พอเห็นว่าจุดที่ตัวเองเข้าข้างไม่ ได้ผล ก็จะ สวิงกลับไปฝั่งตรงข้ามได้อย่างง่ายดายมาก ไม่มีความแน่นอนเป็นที่สุด

ในช่วง 30 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความศรัทธากับองค์กรของรัฐของประชาชนนั้น มีอันต้องถูกเขย่าอย่างรุนแรง ประชาชนเคยเชื่อในรัฐบาลที่จะจัดการกับคอมมิวนิสต์ และแก้ปัญหาเรื่องการกีดกันผิว เป็นยุคแห่งความฝัน และสำหรับสถาปนิกนั้น ประชาชนก็เชื่อว่าจะเป็นผู้ที่มาออกแบบสร้างบ้านเรือนให้คนยากคนจน และสร้างเมืองที่มีคุณภาพดีให้คนได้อยู่อาศัย แต่หลังจากนั้น ประชาชนก็ได้เห็นเรื่องอื้อฉาวของสงครามเวียดนาม ความล้มเหลวของโครงการ Pruitt Igoe (โครงการที่อยู่อาศัยเพื่อคนยากไ้ร้ใน St.Luis รัฐ Missouri เมื่อปี 1952 เป็นอาคารสูงสร้างเป็นหมู่ตึก มีความตั้งใจที่จะเป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาสลัม แต่ก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า กลายเป็นอาคารอันตราย เิกิดอาชญากรรมอย่างรุนแรง และตำรวจก็เข้าไปไม่ถึง เป็นกรณีศึกษาของการแก้ปัญหาอย่างไม่ถูกจุด จนในที่สุดก็ต้องถูกทุบทิ้ง เมื่อปี 1972 - ออกแบบโดย Minoru Yamasaki ซึ่งเป็นผู้ที่ออกแบบอาคาร World Trade Center - ผู้แปล) ความล้มเหลวของระบบ Welfare (รัฐสวัสดิการที่สหรัฐพยายาทำตามอย่างในยุโรปเต็มพี่กัด แต่แล้วก็ต้องถอยเพราะเงินไม่พอ และมีโครงสร้างภาษีที่ไม่แข็งแรงเท่ายุโรป ปัจจุบันมีไว้สำหรับคนยากจนมากๆ เท่านั้น) สรุปแล้วก็เป็นเหมือนยุคที่ความฝันแตกสลายและในที่สุดก็ค่อยๆ หมด ความเชื่อถือในรัฐและในวิชาชีพต่างๆไปทีละน้อย เป็นเหมือนกับการพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า องค์กรองค์กรเดียว หรือวิชาชีพเดียว ไม่มีสิทธิที่จะมาให้คำตอบที่เป็นคำตอบที่แน่นอนเพียงคำตอบเดียว(Absolute) กับคำถามเรื่องแนวทางการอยู่อาศัยของคนในสังคมได้

You can’t Legislative Virtue
คุณไม่สามารถออกกฎหมายเพื่อควบคุมและจัดการศีลธรรมอันสูงส่งได้

ตั้งแต่ตั้งองค์กรจนถึงยุค 1970s นั้น American Institute of Architects (สมาคมสถาปนิกอเมริกัน เทียบเท่าได้กับอาษาของเรา - ผู้แปล) ได้พยายามมาตลอดเป็นร้อยปี เพื่อทำการบังคับใช้กฎแห่งจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพ โดยมีกฎระเบียบที่ค่อนข้างชัดเจน เช่นการห้ามสถาปนิก ประมูลงานตัดราคาแข่งกัน เพื่อให้ได้งาน แนวคิดเบื้องหลังก็คือ เมื่อการแข่งขันเรื่องราคาหมดไป ก็จะเหลือแต่การแข่งขันเรื่องคุณภาพ แต่สิ่งที่ AIA ต้องเผชิญต่อมาคือ ยุคที่สหรัฐอเมริกามีการออก Antitrust Law (กฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาด โดยพยายามจะให้ธุรกิจทุกอย่างมีการแข่งขันเป็นระบบเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค โดย Microsoft ก็เคยเจอฟ้องข้อหานี้มาแล้ว - ผู้แปล) ซึ่งกฎหมายนี้มีผลกระทบมาถึง AIA ในแง่ของการตั้งราคาเอง โดยรัฐกล่าวหา AIA ว่ากฏข้อบังคับทางจรรยาบรรณดังกล่าวทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่เป็นอิสระภายในวิชาชีพซึ่ง AIA ก็พยายามต่อต้านจนถึงวินาทีสุดท้าย โดยอ้างเหตุผลเรื่องคุณภาพดังกล่าว แต่กระทรวงยุติธรรมไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ถ้าเป็นแบบนี้ สถาปนิกทั้งวงการก็สามารถ ฮั้วกันตั้งราคาค่าแบบ เองเท่าไหร่ก็ได้ และจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดีต่อ “ผู้บริโภค”

แต่การตัดสินใจของกระทรวงยุติธรรมนั้นก็ีมีความผิดพลาดอยู่ตรงคำว่าผู้บริโภคนี้เอง เืนื่องจากไม่ได้พิจารณาในเรื่องว่า อาคารก่อสร้างที่เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบสถาปัตยกรรมนั้นมีผู้บริโภคในระดับ ทุติยภูมิอยู่ (Secondary Client) ซึ่งก็ได้แก่ ผู้คนที่เข้ามาใช้อาคาร อาศัยอยู่ในอาคาร หรือแม้แต่จะต้องเดินผ่านอาคารก็ตาม ซึ่งคนพวกนี้จะต้องเป็นผู้ที่ต้องไปสัมผัสกับคุณภาพที่แท้จริงของอาคาร มากกว่าผู้บริโภคระดับปฐมภูมิ (Primary Client) ซึ่งก็ได้แก่ นักลงทุนเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เป็นผู้ใช้อาคารสักเท่าไหร่

แต่กระน้นก็ตาม การต่อสู้ของ AIA นั้นก็เป็นการต่อสู้อยู่บนพื้นฐานที่ไม่แน่นหนาเท่าไหร่ เนื่องจากถ้ามองในอีกแง่นั้น กระทรวงยุติธรรมมีความชัดเจนว่า ผู้บริโภคปฐมภูมินั้นได้ประโยชน์อย่างแน่นอน และก็มีกฎหมายอื่นๆ ที่จะคุ้มครองคุณภาพพื้นฐานของอาคารให้กับ ผู้อยู่อาศัยอื่นๆ ที่เป็นผู้บริโภคทุติยภูมิือยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันข้อโต้แย้งของ AIA นั้น ไ่ม่ได้มีการรับประกันอะไรเลยว่า การที่สถาปนิกทุกคนที่จะได้ค่าแบบเท่ากันหมดนั้น จะทำงานอย่างมีคุณภาพจริงๆ ทั้งในด้านความงาม การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพอื่นๆ ที่ได้กล่าวอ้างมา ดังนั้น AIA จึงแพ้ไป

และในยุคต่อมาวงการวิชาชีพเราก็เจอเรื่องอื่นๆ เช่น หัวข้อ Globalization ที่ทำให้เกิดคำถามที่เราไม่เคยถามตัวเองมาก่อนเช่น มันจะเป็นการเหมาะสมหรือไม่ที่เราจะ เขียนเสป็ค ไ้ม้ที่หายาก ปลูกได้เฉพาะในบริเวณเดียวของโลกโดยที่ปลูกใหม่ไม่ได้แล้ว เพื่อคุณภาพงานก่อสร้างของลูกค้า หรือเราควรจะใช้วัสดุที่มีคุณภาพน้อยลงหน่อย แต่ีมีการรับประกันว่าจะีมีการปลูกทดแทนตลอดเวลา

กลายเป็นว่าเราจะต้องติดอยู่ในทางเลือกที่ไม่โสภาอยู่เสมอในหลายๆ เรื่องและนับวันก็ีแต่จะมากขึ้นๆ

Where we go from here
แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป

จะมีจุดยืนตรงไหนที่สถาปนิกจะเข้าไปอยู่ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงสถาณการณ์ดังกล่าวนี้หรือไม่ บางทีมันอาจจะ้ต้องใช้ความสามารถที่มากกว่าวิชาีชีพอื่นๆ ในแง่ของจินตนาการก็ได้ ที่จะต้องหาคำตอบในอุดมคติ แล้วนำมันมาทำให้ใช้การได้จริงในโลกของเรา เพราะเราไม่ได้มีความสามารถเพียงนำอิฐ หิน เหล็ก และ คอนกรีต มาประกอบกันได้เท่านั้น แต่เราได้รับการสั่งสอนและอบรมความรู้มามากพอที่จะเป็นผู้นำของชุมชนได้ และเราสามารถสื่อสารในแง่มุมของศิลปะได้อีกด้วย เป็นตำแหน่งที่มีพลังอำนาจพอสมควรทีเดียว แต่อำนาจอันนี้จะอยู่ก็ต่อเมื่อตัวแปรหลายอย่างบรรจบกัน ได้แ่ก่ สถาปนิกต้องตระหนักในพลังอำนาจนี้ และประชาชนต้องเห็นในความสามารถตรงนี้ โดยที่ความสามารถจากวิชาที่รำ่เรียนมา และจากประสบการณ์การทำงานนั้น จะส่งผลไปถึงความรับผิดชอบที่มีขอบเขตมากกว้างกว่าการที่ทำงานให้เสร็จมาก

จริงๆ แล้หัวข้อเรื่องความจำเป็นและความสำัคัญของวิชาชีพสถาปนิกที่มีต่อสังคม นั้นได้รับการฉุกคิดมาตั้งแต่สมัย ยุคกลางของยุโรปแล้ว โดย St.Thomas Aquinas ได้ แสดงความเห็นเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ระหว่าง ธรรมจรรยา (Ethical Integrity) และความสามารถในการสร้างงานปรานีตศิลป์ (physical artifact) โดยคำว่า Citizenship และ Craftsmanship นั้นมีความใกล้เคียงกันมาก โดยเขาอธิบายความหมายของแต่ละอย่างโดยใช้การเปรียบเทียบกับของอีกอย่าง โดยได้กล่าวไว้ว่า “ช่างฝีมือ (Craftsman) จะไ่ม่สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี ถ้าเขาไม่มีความรักในการที่จะทำงานของเขาให้ถึงจุดสูงสุด โดยไม่สนใจสิ่งตอบแทนใดๆ เช่นเดียยวกับการเป็นประชาชนที่ดี ก็จะต้องรักเมืองที่เขาอยู่โดยที่ไ่ม่สนใจสิ่งตอบแทนใดๆเช่นกัน”

จะเห็นได้ชัดว่า Aquinas ได้ให้ภาพที่เป็นอุดมคติของ ช่างฝีมือที่ประกอบไปด้วยฝีมือการทำงานที่เป็นเอก และความรักต่อสังคมไว้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญแทบจะเ็ป็นที่สุดแล้วถ้าสะท้อนมาถึงพวกเราสถาปนิก เพราะในฐานะที่เราเป็นสถาปนิก เรามีความเป็นเอกลักษณ์ในการทำงานที่จะนำ ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ความงาม และประเด็นในเชิงจิตวิทยาเข้ามาผสมให้เกิดเป็นผลงาน เรามีความสามารถที่จะนำความร่ำรวยในทางจิตวิญญาณและความภาคภูมิใจมาสู่คนในชุมชนของตัวเองได้ในแบบที่ไม่มีใครทำได้เหมือน โดยแทนที่จะให้ ราคา เป็นสิ่งที่เป็นตัวนำในการแข่งขัน สถาปนิกต้องให้ความรู้กับ ลูกค้า และสาธารณะชน กับคุณค่าของ การออกแบบ ที่ ใช้เวลานาน ใช้ความระมัดระวังอย่างมาก และในบางครั้งอาจจะใช้เงินมากกว่าปกติ

แม้ว่า Aquinas ไม่ได้ระบุถึงข้อความเกี่ยวกับการสร้างสรรค์งานฝีมือของเขา ว่าต้องเป็นการสร้างสรรโดยสถาปนิก แต่เนื้อหาในข้อความเหล่านั้น มุ่งไปหาสถาปนิกโดยตรง ซึ่งมีผลงานที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ที่เป็นตัวผลักดันผู้คนให้ดำรงชีวิืตไปในรูปแบบของการเป็นประชาชนอยู่ (Citizenship) โดยสรุปแล้ว Aquinas ฟันธงไปเลยว่า การมีความรู้มากมายที่จะทำงานให้สำเร็จ (Technical Knowledge) ไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญคือความรักในงานที่ทำอยู่ และความรักต่อสังคมที่ตัวช่างฝีมือใช้ชีวิตอยู่และสร้างงานให้ อาจจะเหมือนกับที่ John Lennon บอกก็ได้ว่า “All you need is LOVE” ความรักต่องานที่ทำจะนำไปสู่ความสำเร็จของการทำงาน และการดำรงชีพ นอกจากนี้ Aquinas ยังบอกอีกว่า “ความจริงนั้นเป็นหนึ่งเดียว” และยังบอกต่อไปว่า “ดังนั้น ความจริงในเชิงวิทยาศาสตร์ และความจริงในเชิงของศรัทธานั้นต้องเคียงคู่กัน” ซึ่งจริงๆแล้งข้อความนี้ก็ไ่ม่ได้เป็นจริงเสมอไป แต่ว่าในกรณีของสถาปัตยกรรมแล้ว สิ่งที่เราเห็นคือ อาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมชั้นยอดนั้น มักจะมีความเป็นสุดยอดของเทคโนโลยีและในด้านของการออกแบบหรือความงามที่เป็นหนึ่งเช่นกัน สำหรับ Aquinas แล้ว ความเป็นนักวิชาชีพขั้นสุดยอด ไม่ใช่การแยกตัวเองออกจากสังคม แต่เป็นการดึงตัวเองเข้าไปสู่ศูนย์กลางของสังคม ให้เป็นที่ยอมรับ และเมื่อนั้นงานของเขาก็จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วๆไป

Ruskin and Professional competence in the digital age
แนวความคิดของ John Ruskin และ ความสามารถของสถาปนิกใหม่ในยุคดิจิตอล

ในยุคที่ผ่านมา สถาปนิกที่มีประสบการณ์มากมายนั้นได้แสดงความคิดที่เป็นห่วงต่อวงการวิชาชีพว่า ความสามารถที่สถาปนิกควรจะีมีในการประกอบวิชาชีพนั้น ไม่ได้รับการสอนอย่างเพียงพอในสถาบันการศึกษาสถาปัตยกรรม อันดับหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องของบัณฑิตที่จบใหม่นั้น ไม่มีความรู้เพียงพอในเรื่องของการก่อสร้าง สภาพของอาคารที่ออกมาในรูปของภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์นั้น เป็นสิ่งที่ดูสวยสดงดงาม ซึ่งเป็นภาพที่ระบบการปรับอากาศ ระบบไฟฟ้า และประปานั้น ไม่มีความหมาย จากการสัมภาษณ์ของ Richard Meier นั้น มีอยู่ข้อความนึงที่น่าสนใจ ได้แก่ “…เด็กที่จบมาใหม่นั้น ส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจเรื่องของ Scale โดยมักจะอ้างว่า ไม่เป็นไรเดี๋ยวผมวัดได้ แต่จริงๆแล้วคุณไ่ม่ควรจะต้องวัด มันควรจะอยู่ในหัวคุณด้วยซ้ำ คุณควรจะรู้ว่าคุณเีขียนอะไรอยู่”

ไม่มีใครปฎิเสธว่า แบบก่อสร้างที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ จะไม่สามารถทำได้เร็วและมีประสิทธิืภาพเท่านี้ถ้าไม่ใช้ CAD ไม่มีใครปฏิเสธว่าคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งทีทำให้สถาปนิกได้ออกแบบอาคารที่ทำไม่ได้ด้วยกระดาษและดินสอ แต่คำถามง่ายๆต่อมาก็คือ สาธารณะชนจะสามารถเชื่อมั่นในบุคลากรที่ไม่เข้าใจในเรื่อง Scale ได้หรือไม่ รวมทั้งหัวข้ออื่นๆ เช่น ทำไมอาคารถึงตั้งอยู่ได้ อะไรที่เป็นสิ่งที่ทำให้อาคารมีความสบาย และก่อสร้างได้ตามราคา หรือเรื่องเกี่ยวกับกฏหมายอาคารพื้นฐาน ในช่วง 1850s นั้น John Ruskin ได้เขียน The Stones of Venice ซึ่งเป็นการแสดงอีกแง่มุมของความบ้าคลั่ง ของผู้คนในสมัยนั้น ต่อเรื่องของมาตรฐานวัสดุ และเืรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ผู้คนมุ่งไปโดยดูถูกของเก่าที่ทำจากมือ อย่างรุนแรงและพยายามที่จะกำจัดให้หมดไป ซึ่งถ้านำมาอ่านตอนนี้ เขาก็อาจจะเป็นผู้ที่เขียนวิจารณ์งาน CAD และ Digital Renderings ก็ได้ ว่าความสะดวกสะบาย ความงาม และความประหยัดที่เรามีอยู่ทุกวันนี้นั้นได้มาจาก เครื่องจักร ที่เกิดขึ้นมาได้เพราะ ความเสื่อมถอยของฝีมือแรงงานในสังคม ที่ไม่สามารถมีส่วนร่วมในระบบการผลิตอีกต่อไปแล้ว

Ruskin ยอมรับความจริงว่าในยุคของเครื่องจักรนั้น ความคิด นั้นแบ่งแยกตัวเองออกมาจากการผลิต มากขึ้นๆ ทุกที ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่เป็นผู้คิดริเริ่ม ไม่ได้เป็นคนที่ทำให้มันเป็นจริง “เรากำลังเจอปัญหาที่เป็นอยู่เพราะเราพยายามจะแยกสองสิ่งนี้ (Body และ Intellect) เราต้องการให้ คนหนึ่งเป็นที่คิด และอีกคนเป็นคนที่ทำ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ คนที่คิดก็พยายามที่จะทำและคนที่ทำก็พยายามที่จะคิด ซึ่งทางแก้ปัญหามีทางเดียวคือ การลงมือปฎิบัติจะทำให้คนที่คิดนั้นจะ ใช้ความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการที่คิดอย่างเป็นระบบนั้นจะทำให้คนที่ทำงานมีความสุข” Ruskin ไม่ได้พยากรณ์ไปถึงเรื่อง Computer แต่ถ้าเขาได้มาเห็นในยุคนี้ คงตกใจที่ นอกจากการลงมือทำจะถูกแยกออกไปจากการคิดแ้ล้ว ยังมีการเขียนแบบที่ถูกแยกออกไปจากการคิดแบบอีกต่างหาก ซึ่งทำให้ทฤษฎีของเขาหนักแน่นขึ้น ในบริบทของปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น

เช่นเดียวกับ Aquinas, Ruskin เชื่อว่า ช่างฝีมือที่ดีจะต้องเป็นผู้ที่สังคมให้ความเชื่อถือ แต่ Ruskin มีแนวคิดที่เจาะจงลงไปถึง สถาปนิกโดยตรงว่า เป็นผู้ทีมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมที่จะเตือนสติผู้คนในเรื่องของ ความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่ๆเขาอยู่ กับประวัติศาสตร์ของเขา เขาพูดถึงสถาปัตยกรรมว่า “เราสามารถอยู่ได้โดยไม่มีมัน (จริงๆแล้วผู้เขียนใช้คำ่ว่า “เธอ”หรือ her ใน มุมมองของสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เช่น โลก หรือ ประเทศ ในภาษาอังกฤษ แต่สำหรับภาษาไทยจะไม่เป็นภาษาเลยขอใช้ว่ามันแทน - ผู้แปล) หรือ และเข้าสถาณที่บูชาศาสนาของตนได้โดยที่ไม่ต้องมีมัน แต่เราจะไ่ม่สามารถจำอะไรได้เลยถ้าไม่มีมัน มนุษยเรามีเพียงสองสิ่งที่จะช่วยให้เราจดจำการพัฒนาของเราได้ก็คือ บทกวี และสถาปัตยกรรม” เป็นการสื่อความหมายว่า สถาปนิกมีความสามารถมากกว่าศิลปินทั่วไปในเรื่องของการที่จะสามารถ สร้างงานที่เหมือนกับเป็นภาพสะท้อนของช่วงเวลาในประวัติศาสตร์และให้ผู้คนเข้าไปอยู่ในภาพของความทรงจำอันนั้นได้

และสุดท้าย สำหรับกรณีที่ใกล้ยุคที่เราอยู่เข้ามาอีก Martin Heidegger ได้เีขียนไว้ในงานของเขา “เราควรจะสร้างอาคารที่เราเข้าไปอยู่ได้เท่านั้น” (1951) แนวความคิดที่สูงส่งของHeidegger ต่องานสถาปัตยกรรมนั้นสามารถพบได้ใน The Ethical Function of Architecture (MIT PRESS) โดยถ้ามองให้ลึกกว่านั้น คือถ้าสถาปนิกต้องการที่จะสร้างพื้นที่ๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกของความสบาย และความเป็นเจ้าของ หรือความรู้สึกอื่นๆ นั้น คนที่ออกแบบจะต้องเข้าใจความรู้สึกดังกล่าวก่อน
Aquinas, Ruskin และ Heidegger ทั้งสามได้พยายามที่จะแนะนำพวกเราให้ สร้างความสัมพันธ์ระหว่าง วิชาชีพของเรากับ สังคมและประวัติศาสตร์ และโดยสรุปคือ เราต้องต้องเข้าใจระบบบการก่อสร้างและวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสถาปัตยกรรมให้เกิดขึ้นมา สถาปนิกผู้เดินอยู่ระหว่าง ประเพณีเดิมและแนวความคิดใหม่ๆ เช่นเดียวกับ ระหว่างความต้องการของลูกค้ากับของผู้ที่เข้ามาใช้อาคาร จะต้องเข้าใจว่า การตัดสินใจที่จะหาคำตอบระหว่างด้านใดๆนั้น ต้องการความเข้าใจและการประนีประนอม

สถาปนิกที่ออกแบบเพียงเพื่อประเพณีและศิลปะนั้นจะเป็นสิ่งทีทำให้เกิดความพินาศทางการเงิน สถาปนิกที่ออกแบบเพียงเพื่อความต้องการของลูกค้าเพียงอย่างเดียวโดย ไม่สนใจเรื่องอื่นๆ ก็จะก่อให้เกิดความว่างเปล่าทางจิตวิญญาณ และวิชาชีพที่ไร้ความหมาย

Aristotle ก็เคยกล่าวไว้ว่า การมุ่งหน้าเพื่อหาความสุดยอดในชีวิตเพียวอย่างเดียว และไม่ใส่ใจด้านอื่นๆอีกต่อไปนั้น คือทางแห่งหายนะ

และในที่สุดทางเืืลือกระหว่าง สองทางที่แตกต่างอย่างสุดขั้วนั้นก็จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้น ในน้ำหนักที่แตกต่างกันออกไป โดยที่สถาปนิกแต่ละคนจะต้องเลือก และแน่นอนว่าทางเลือกแต่ละทางนั้นจะเป็นทางเลือกที่ขึ้นอยู่กับตัวเอง โดยที่ไม่สามารถมีผู้ใดมาให้คำตอบได้

ไม่มีใครสามารถมาบอกสถาปนิกได้ว่าควรจะทำงานอย่างไร ควรจะมีข้อจำกัดทางเหตุผล อยู่ตรงไหน แต่เ็ป็นที่แน่นอนว่า สถาปนิกทีทำงานเพื่อสังคม เพื่อความงาม และเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมนั้น จะเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องเสมอ (จาก Ernest Boyer และ Lee D. Mitgang ได้เขียหนังสือชื่อ Building Community : A New Future for Architecture Education and Practice ซึ่งเป็นหนังสือที่ วิเคราะห์และให้แนวคิดที่น่านำไปพัฒนาเกี่ยวกับการศึกษาสถาปัตยกรรมและซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพได้อย่างถึงแก่น ลองไปหาอ่านได้ - ผ้้แปล)

It’s not about the Money
มันไม่ใช่เรื่องของเงิน

ไม่ว่าเราจะพูดไกลไปถึงเรื่องของ จรรยาบรรณหรือ เรื่องของการเคารพตัวเองนั้น หัวข้อที่สำคัญมักจะกลับมาที่เรื่องของเงินเสมอ สถาปนิกจะทำอย่างไรที่จะทำงานได้อย่างมีคุณภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ และเคารพในสภาพแวดล้อม โดยไม่ทำให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพของข้อจำกัดทางการแข่งขัน ไม่ว่าแนวทางไหนจะกลายมาเป็นทางเลือกก็ตาม มีแนวคิดเรื่องหนึ่งที่ปฎิเสธไม่ได้คือ ปัจจุบันสถาปนิกยอมรับที่จะใช้ตลาดเพียงอย่างเดียวมาเป็นตัวตัดสินคุณค่าของงานที่ตัวเองทำ โดยสิ่งที่เกิดตามมาคือ สถาปนิกมีแนวคิดต่อตัวเองที่ค่อนข้างจะเป็นไปในทางที่รุนแรงและในทางลบมาก หนึ่งคือ ลูกค้าในระดับทุติยภูมิ หรือผู้เข้ามาใช้อาคารนั้น จะไม่ค่อยพอใจกับประสบการณ์หรือความงามของสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกพยายามเพียรคิดขึ้นมาเท่าใด สองคือผู้คนไม่ได้สนใจที่จะยอมรับความสามารถของสถาปนิกที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในทาง วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ความงาม และที่สูงที่่สุดคือ จิตวิญญาณ มาผสม ทำให้เิิกิดอาคารอันน่าประทับใจขึ้นมา

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสถาปนิกทุกคนจะทำมาจนถึงจุดดังกล่าวนี้ได้

ต้องขอบคุณสถาปนิกส่วนใหญ่ที่ได้พยายามตลอดชีวิตที่จะ คงไว้ซึ่งคุณค่าของวัฒนธรรมและจิตวิญญาณดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายที่เราจะิิคิดว่าการรับใช้สังคมอย่างสุดหัวใจ ด้วยความสามารถสูงสุดของเรานั้น เราต้องพยายามตัดข้อจำกัดที่เรา ในบางครั้ง สร้างขึ้นมาเอง ในเรื่องของแนวความคิดเดิมๆ และข้อจำกัดทางการเงิน ที่บางครั้งอาจจะไ่ม่เกี่ยวเลยก็ได้

สถาปนิกที่เต็มไปด้วยจรรยาบรรณและที่อยู่รอดในสังคมได้อย่างดีน้นคือคนที่ คิดนอกระบบได้ (Think outside the box) สำหรับสถาปนิกที่ไม่คิดแบบนั้น ก็จะมีทางเลือกระหว่าง การได้ทำงานที่ดีไม่กี่งาน แต่ไม่มีใครกล้ามาว้าจ้างอีก เพราะไม่สามารถเชื่อใจในเรื่องงบประมาณและการบริหารได้ หรือไม่ก็มีชีวิตที่เต็มไปด้วยความร่ำรวย แต่ไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า ในชีวิตนี้ทำงานชิ้นใดที่ทำให้ตัวเองภูมิใจได้บ้าง

จบ

John T. Matteson จบการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัย Harvard ได้รับปริญญาเอก จาก มหาวิทยาลัย Columbia ในภาควิชาภาษา English Comparative Literature ปัจจุบันเป็นอาจารย์ แห่ง John Jay Collage ในนคร New York

Mary Zaboglio Donovan จบปริญญาโทจาก University of Wisconsin และปริญญาตรีทางด้านสถาปัตยกรรมจาก City Collage of New York เธอเป็นผู้ที่ทำการจัดอบรมและสัมนาเกี่ยวกับเรื่องจรรยาบรรณของวิชาชีพสถาปัตยกรรมอยู่เสมอ

No comments: